“ปศุสัตว์” ชี้ราคาหมูพุ่ง เหตุต้นทุนผลิต-ขนส่งสูง ยันควบคุมโรค ASF วงจำกัด

“ปศุสัตว์” ชี้ราคาหมูปรับตัวขึ้น เซ่นหลายปัจจัย ทั้งต้นทุนผลิต จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และต้นทุนขนส่ง หลังสงครามยูเครน-รัสเซีย ยันควบคุมโรค ASF ได้วงจำกัด


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ถึงราคาหมูพุ่งอีกครั้ง ว่า แนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ มีการปรับขึ้นราคาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกกิโลกรัมละ 5 บาท โดยราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ประจำวันพระที่ 16 เมษายน 2565 ที่กิโลกรัมละ 96-98 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีราคาระดับสูงที่สุดในโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และจากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) นั้น

โดยราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากทวีปยุโรป ซึ่งกำลังประสบปัญหาสภาวะสงครามในยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารและน้ำมันที่สำคัญของโลก รวมทั้งประเทศไทย

นอกจากนี้ ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในการทำระบบการป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม การพักคอก และการปรับปรุงเพื่อเตรียมความพร้อมระบบการเลี้ยง ก่อนการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ของเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด ประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศร้อน อาจทำให้สุกรเติบโตช้า

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลายจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และราคาเนื้อสุกรจึงจะปรับราคาลดลง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ของโรค ASF นับแต่พบการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา จากการควบคุมและดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในทุกพื้นที่ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายดีขึ้น จนถึงปัจจุบันสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดี เพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่อไป

ขณะที่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่จะนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อตรวจประเมินระบบการป้องกันโรคของฟาร์มสุกร รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกร ในการเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคระบาดในสุกร เพื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด ยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ กำจัดแมลงและสัตว์พาหะในฟาร์ม และขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการบริโภคเนื้อสุกร ขอให้เลือกซื้อเนื้อสุกรที่มาจากแหล่งผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้รับสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และต้องนำมาปรุงสุกทุกครั้งก่อนการบริโภค เพื่อสุขอนามัยที่ดี และขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสุกร ไม่ต้องตื่นตระหนกกับข่าวสารที่มีข้อมูลไม่แน่ชัด

Back to top button