สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 เม.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 เม.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักในวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากการที่บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐคาดการณ์ผลประกอบการที่อ่อนแอกว่าคาด และนักลงทุนวิตกว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,811.40 จุด ร่วงลง 981.36 จุด หรือ -2.82%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,271.78 จุด ร่วงลง 121.88 จุด หรือ -2.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,839.29 จุด ร่วงลง 335.36 จุด หรือ -2.55%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันศุกร์ (22 เม.ย.) ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน โดยถูกกดดันจากปัจจัยลบต่าง ๆ อาทิ การล็อกดาวน์เพื่อคุมโรคโควิด-19 ในจีน และความวิตกเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายหุ้นทั่วโลก

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 453.31 จุด ร่วงลง 8.26 จุด หรือ -1.79% ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,581.42 จุด ร่วงลง 133.68 จุด หรือ -1.99%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,142.09 จุด ร่วงลง 360.32 จุด หรือ -2.48% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,521.68 จุด ร่วงลง 106.27 จุด หรือ -1.39%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงในวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของอังกฤษที่ร่วงลงอย่างรุนแรง ทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,521.68 จุด ร่วงลง 106.27 จุด หรือ -1.39% และปรับตัวลงมากกว่า 1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากปัจจัยลบต่าง ๆ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง, อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และการล็อกดาวน์ในจีนเพื่อสกัดโรคโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 1.72 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 102.07 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 1.68 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 106.65 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และจากความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 13.9 ดอลลาร์ หรือ -0.71% ปิดที่ 1,934.3 ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลง 2.1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 36.2 เซนต์ หรือ -1.47% ปิดที่ 24.259 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 40.4 ดอลลาร์ หรือ -4.17% ปิดที่ 927.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 43.90 ดอลลาร์ หรือ -1.8% ปิดที่ 2,376.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (22 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อดอลลาร์จากการคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนหน้าเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.64% แตะที่ 101.22

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 128.59 เยน จากระดับ 128.27 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9568 ฟรังก์ จากระดับ 0.9531 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2717 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2582 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0789 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0841 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2825 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3028 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7239 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7369 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button