ผู้ใช้แรงงาน เสนอรัฐปรับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” 421 บ. เท่ากันทั่วประเทศ
คสรท. และ สรส. ส่งจดหมายถึงรัฐบาล เร่งปรับค่าจ้าง 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมราคาสินได้ ส่วนมาตราการแจกเงินเป็นการช่วยเหลือได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ลงวันที่ 25 เมษายน 2565 ระบุว่า ได้ใช้ความพยายามเพื่อผลักดันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เหตุเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าทุกรายการสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารเครื่องมือ เครื่องใช้ ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ส่งผลทำให้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก
ขณะเดียวกันเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนงานจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ นอกจากนั้นบางคนต้องเข้าโครงการทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 และต้องแบกรับภาระจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต แทนผู้ประกอบการ ในขณะที่ค่าจ้างไม่ได้มีการปรับมาเกือบ 3 ปีแล้ว นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม
โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2563 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313 บาท, 315 บาท, 320 บาท, 323 บาท, 324 บาท, 325 บาท, 330 บาท, 331 บาท, 335 บาท และ 336 บาท
แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึง อาจเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการบางแห่งอ้างว่า ระบบการผลิต การจ้างงาน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ ทำให้ธุรกิจ สถานประกอบการ ร้านค้า ต้องลดการผลิต บางแห่งต้องปิดกิจการไปเลย จึงต้องเลิกจ้าง แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่อาศัยสถานการณ์โรคโควิด-19 ปลด เลิกจ้างคนงาน โดยไม่จ่ายเงินใดๆ ทำให้คนงานเป็นจำนวนมากขาดรายได้ ไร้อาชีพ
แม้รัฐบาลพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในโครงการต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการของระบบประกันสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนงานมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการช่วยเหลือเป็นเพียงระยะสั้น ๆ และเงินที่นำมาแจกก็ล้วนเป็นเงินที่กู้มา ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องร่วมชดใช้
ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้แต่ประการใด และที่ผ่านมา คสรท. และ สรส. ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2560 โดยเหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแสดงถึงความต้องการถึงความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว
อย่างไรก็ตามการเสนอเรื่องตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ คสรท. และ สรส.ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจจากความเดือดร้อนของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2560 ผลสรุปจากแบบสอบถามคือ ค่าใช้จ่ายรายวัน (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) 219.92 บาท ตกเป็นเดือนละ 6,581.40 บาท ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท หากนำค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือน มารวมกันจะอยู่ที่ 21,382.92 ดังนั้น ค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท
คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอม โดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน ดังนั้นตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่วันละ 421 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เหตุเพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีการปรับพร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้เลือกเขต เลือกโซน เลือกจังหวัด และเกือบทุกรายการราคาสินค้าในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพฯ และส่วนกลาง
ข้อเสนอทั้งหมดดังกล่าว คสรท. และ สรส. ได้รวบรวมข้อมูลความเป็นจริง จากแรงงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากหน่วยงานรัฐ ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในสถานการณ์ของประเทศไทย ถึงภาวะการดำรงชีพของคนงานและประชาชนที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ในช่วงของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้เท่ากัน ทั้งในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและหลักประกันที่มั่นคงแก่คนงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม