CKP วางเป้ารายได้ปีนี้โต 10% อัดงบ 2.6 พันลบ. ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

CKP วางเป้ารายได้ปีนี้โต 10% อัดงบ 2.6 พันลบ. ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน พร้อมศึกษา “โซลาร์-วินด์ฟาร์ม” เวียดนาม-ลาว ดันกำลังผลิตแตะ 4,800 เมกะวัตต์ ใน 3 ปีข้างหน้า


นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปี 65 ไว้ราว 2,600 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้ลงทุนโครงการหลวงพระบาง รวมถึงโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามและสปป.ลาวเป็นหลัก เพราะมีหลายพื้นที่ที่น่าสนใจจากความเข้มของแสงที่ดี และตามแผนหลักการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามกำหนดโครงการพลังงานลมกลางทะเล (Offshore Wind) ที่สามารถขายไฟฟ้าทั้งในประเทศและขายกลับมายังประเทศไทยได้

โครงการขยายการลงทุนของบริษัทเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งให้เป็น 4,800 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือ เพิ่มเป็น 2 เท่าจากกำลังผลิตติดตั้งในปี 64 ที่ 2,167 เมกะวัตต์ โดยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable) สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 95% จากปัจจุบันอยู่ที่ 90% ซึ่งจะเพิ่มมาจากพลังงานลม 700 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 330 เมกะวัตต์  รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายระยะยาวในปี 70 ที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 เมกะวัตต์

“เรามีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 2 เท่าเป็น 4,800 เมกะวัตต์อีก 3 ปีข้างหน้า แผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เราจะลงทุนแต่ Renewable เท่านั้น เพราะตอบโจทย์เรื่อง Climate Change” นายธนวัฒน์ กล่าว

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางใน สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,460 เมกะวัตต์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (LPCL) ที่ CKP ถือหุ้น 42% นั้น นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 65 หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบอัตราค่าไฟแล้ว

โครงการดังกล่าว CKP ลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 1.3-1.6 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี กำหนดเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) วันที่ 1 ม.ค.73 ขณะที่รัฐบาล สปป.ลาว ได้ทำรายงานผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าหลวงพระบางกับยูเนสโกเพื่อรับทราบแล้วแต่ไม่ใช่ขออนุญาต

นายธนวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 5-10% จากปี 64 ที่มีรายได้รวม 9,335 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1/65 โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 (NN2) มีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงกว่าไตรมาส 1/64 ราว 87% แต่บริษัทวางแผนผลิตไฟฟ้าแบบอนุรักษ์ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ 331 ล้านหน่วยต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ 410 ล้านหน่วย ขณะที่บริษัทวางแผนผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นในไตรมาสถัดไป จึงเชื่อว่าปีนี้ NN2 จะเป็นปีที่ดี

และโรงไฟฟ้าไซยะบุรี (XPCL) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,121 ต่อลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในไตรมาส 1/65  และผลิตปริมาณไฟฟ้า 1,404 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 23% และ 19.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณน้ำในปีนี้คาดว่าจะสูงว่าค่าเฉลี่ย โดยในไตรมาส 2/65 น่าจะมีปริมาณน้ำดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 จึงคาดว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำงึม 2 และไซยะบุรีจะดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในไตรมาส 3 เป็นหน้าฝนก็คาดว่าผลการดำเนินงานทั้งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งดีกว่าปีที่ผ่านมา

นายธนวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทเสนอขายในไตรมาส 4/65 เพื่อนำเงินไปทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด โดยจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่จะเพิ่มขึ้น บริษัทจึงใช้วิธีออกหุ้นกู้ที่สามารถล็อกดอกเบี้ยคงที่และระยะเวลายาว เพื่อทำให้ต้นทุนทางการเงินไม่ผันผวน ซึ่งโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 โรงไฟฟ้าไซยะบุรี และโรงไฟฟ้าใหม่ก็ใช้แนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทยังถือว่าต่ำที่ 0.91% ในสิ้นปี 64

ส่วนค่าก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ยอมรับว่ากระทบต้นทุนในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็น 3% ของกำลังการผลิตของบริษัท

Back to top button