สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 เม.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 26 เม.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 800 จุดในวันอังคาร (26 เม.ย.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 500 จุดและปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน, การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และจีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,240.18 จุด ลดลง 809.28 จุด หรือ -2.38%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,175.20 จุด ลดลง 120.92 จุด หรือ -2.81% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,490.74 จุด ลดลง 514.11 จุด หรือ -3.95%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันอังคาร (26 เม.ย.) โดยติดลบเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงตามหุ้นกลุ่มเดียวกันของสหรัฐก่อนการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทรายใหญ่ แต่ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดโดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 441.1 จุด ลดลง 4.01 จุด หรือ -0.90%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,414.57 จุด ลดลง 34.81 จุด หรือ -0.54%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,756.40 จุด ลดลง 167.77 จุด หรือ -1.20% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,386.19 จุด เพิ่มขึ้น 5.65 จุด หรือ +0.08%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันอังคาร (26 เม.ย.) หลังติดลบ 3 วันติดกัน โดยตลาดได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มปลอดภัยที่ปรับตัวขึ้น

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,386.19 จุด เพิ่มขึ้น 5.65 จุด หรือ +0.08% โดยฟื้นตัวจากระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.เมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กดีดขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ได้อีกครั้งในวันอังคาร (26 เม.ย.) ขานรับข่าวจีนประกาศเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพุ่งเป้าฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 3.16 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 101.70 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.67 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 104.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (26 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและสงครามในยูเครน นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 8.1 ดอลลาร์ หรือ 0.43% ปิดที่ 1,904.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 12.6 เซนต์ หรือ 0.53% ปิดที่ 23.544 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 7.1 ดอลลาร์ หรือ 0.78% ปิดที่ 912.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 56.40 ดอลลาร์ หรือ 2.65% ปิดที่ 2,178.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (26 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.54% แตะที่ 102.3050

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9623 ฟรังก์ จากระดับ 0.9590 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2799 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2729 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 127.58 เยน จากระดับ 128.01 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0647 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0714 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2589 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2734 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7147 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button