ดับฝัน! ปลัดแรงงาน เบรกขึ้นค่าจ้าง 429 บ. เป็นไปไม่ได้

ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีคณะกรรมการพิจารณาเป็นรายภาค เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นทุนไม่เท่ากัน พร้อมย้ำขึ้นค่าแรง 429 บาททั่วประเทศเป็นไปไม่ได้ และทำให้นายจ้างอาจรับไม่ไหว


นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยถึงกรณีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกันที่ 492 บาทว่า หลักการพิจารณาเป็นไปตามที่คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ จะหารือเรื่องของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และขั้นตอนในการพิจารณาอยู่แล้ว โดยช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเก็บข้อมูลตัวเลขจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และคณะอนุกรรมการจากทุกจังหวัดจะต้องนำข้อสรูปส่งมาที่ส่วนกลาง จากนั้นส่วนกลางจะพยายามทำให้เสร็จไม่เกินเดือนกันยายน 2565

ส่วนจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ถึง 492 บาท ทั่วประเทศนั้น นายบุญชอบ ระบุว่า เวลาพิจารณาอัตราค่าจ้างแรงงาน จะต้องดูใน 2 ส่วน คือ การดูสถิติเก่าๆ ว่าการขึ้นค่าแรงของคณะกรรมการไตรภาคี เคยขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นนั้นหรือไม่ และหากต้องการขึ้นในลักษณะนั้น ต้องดูที่นโยบายของรัฐบาล  ยกตัวอย่างเมื่อปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศเป็น 300 บาท แต่ปัจจุบันบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เพราะแต่ละจังหวัดมีฐานของตัวเอง จังหวัดต่ำสุดคือ 313 บาท จังหวัดสูงสุดคือ 336 บาท ต่างกัน 23 บาท ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้มาเท่ากันเป็นไปไม่ได้ และตอนนี้ไตรภาคีจังหวัดกำลังพิจารณา จากสถานการณ์และต้นทุนต่างๆที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า ข้อเสนอของตัวแทนลูกจ้าง ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลข 492 บาท มีที่มาอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีอยู่ 8 ระดับตามพื้นที่ ซึ่งหากยึดค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม.ที่อัตรา 331 บาทต่อวัน มาคำนวณ จะเท่ากับ มีการปรับค่าจ้างขึ้นไปถึงวันละ 161 บาท หรือขึ้นถึง 48.6% ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างรับไม่ไหว การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยต้องพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง แม้จะเห็นใจแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สาเหตุของเงินเฟ้อครั้งนี้มาจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และผู้ประกอบการไม่สามารถสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าได้เหมือนภาวะเงินเฟ้อปกติ

ขณะเดียวกันนายธนิต ยอมรับว่า มีความกังวลว่า เรื่องค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ จะถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อสนองนโยบายประชานิยม จนมีการแทรกแซงไปยังคณะกรรมการไตรภาคี ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อหวังผลทางการเมืองแต่หากรัฐบาลต้องการดูแลแรงงาน สามารถเลือกให้ความช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ในระยะสั้น 3 เดือน หรือ หากจะมีการปรับค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรนำอัตราเงินเฟ้อมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหลายสำนักประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 5% ก็ไม่ควรขึ้นค่าจ้างเกิน 5% จากอัตราในปัจจุบัน ซึ่งหากคำนวณโดยอัตราค่าจ้างใน กทม. ก็จะเท่ากับปรับขึ้นมาอีก วันละ 16.50 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 500 บาท ก็น่าจะอยู่ในระดับที่ช่วยเหลือกันได้

Back to top button