“ประสาร” ชี้ 5 ปัจจัยสร้างโอกาส-ความท้าทาย ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต
“ประสาร” ชี้ 5 ปัจจัยสร้างโอกาส-ความท้าทาย เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยแห่งอนาคต พร้อมเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต ว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นสถาบันสำคัญในตลาดทุน ทั้งแง่การลงทุน และการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทุน และขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ มี 5 เรื่องสำคัญ ที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นแนวโน้มทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการในตลาดทุน คือ 1. พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ 2. ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด 3. กระบวนการ Digitalization 4. พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล 5. ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุนไทย
เรื่องที่ 1 พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือความเสี่ยงด้าน Geopolitics มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลและเชื่อมโยงกับตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ครอบคลุมเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เช่น ปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน, ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ซึ่งความเสี่ยงด้าน Geopolitics เหล่านี้ จะมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ต้นทุนการประกอบธุรกิจจากความผันผวนของราคาพลังงาน, อัตราเงินเฟ้อ, ความผันผวนของค่าเงิน, การเคลื่อนย้ายเงินทุน, การท่องเที่ยว ตลอดจนการนำมาซึ่งมาตรการแทรกแซงการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และการทำธุรกรรมภาคการเงิน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะยังทอดยาวไปอีกพอสมควร และอาจเกิดผลกระทบในเชิงโครงสร้างต่อตลาดทุนไทยและตลาดทุนโลกในอนาคตได้
เรื่องที่ 2 ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด โดยนับตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิดในประเทศจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 62 ทุกภาคส่วนในโลกล้วนได้รับผลกระทบทางด้านระบบสาธารณสุข และลุกลามต่อเนื่องมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมา โดยในส่วนของประเทศไทย จากผลกระทบโควิดดังกล่าว เศรษฐกิจไทยเริ่มจะฟื้นตัวได้ในปี 64 ที่ 1.6% จากในปี 63 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบไป 6.1% โดยในปี 64 SET Index เริ่มฟื้นตัว และบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น หลายองค์กรได้ปรับตัวเพื่อรับการแข่งขัน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจในแบบ new economy มากขึ้น
แม้ภาพรวมจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการฟื้นตัวของตลาดทุน แต่ในแต่ละภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบและมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน หรือเป็น K shape โดยอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด ในขณะที่บางอุตสาหกรรมต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว เพราะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาด เช่น การท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งการลดช่องว่างในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจนี้ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของตลท.ได้มีส่วนในการผลักดันและช่วยเหลือกลุ่ม SMEs/สตาร์ทอัพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดตั้ง Live Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งความรู้และช่วยเตรียมความพร้อมให้ SMEs/สตาร์ทอัพ เข้าสู่ตลาดทุน ในการขณะที่ภาคธุรกิจเองจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
ทั้งนี้ ตลาดทุนไทย ถือเป็นทางเลือกในการระดมทุนในช่วงวิกฤตหลายช่วงที่ผ่านมา และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามาถของเศรษฐกิจไทยสู่ระดับภูมิภาค
เรื่องที่ 3 กระบวนการ Digitalization ซึ่งก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด หลายธุรกิจได้เริ่มมีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาการทำงานในด้านต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจ และแหล่งรายได้ใหม่ๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบธุรกิจในวงกว้าง ทำให้หลายองค์กรต้องเร่งกระบวนการ Digitalization ให้รองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และผลักดันองค์กรให้เข้าสู่ Digitalization อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
ในส่วนของตลาดทุนเอง ก็ได้มีการผลักดันการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้ร่วมตลาด เช่น การปรับปรุงบริการบริษัทจดทะเบียน แบบ end-to-end process, การใช้ระบบดิจิทัลในกระบวนการทางธุรกิจ เช่น e-Service Platform, e-Proxy Voting, e-Signature, e-Document เป็นต้น การเพิ่มช่องทางดิจิทัลแก่นักลงทุนเพื่อการเข้าถึงบริษัทจดทะเบียน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน เช่น การพัฒนาระบบซื้อขายกองทุน FundConnext และเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้า-บริการกับต่างประเทศ เช่น Clearstream
อย่างไรก็ดี ดิจิทัลเทคโนโลยี ก็อาจมีช่องว่างที่นำมาสู่ช่องโหว่ในการเข้าถึงข้อมูล มีการแฮคข้อมูลที่สร้างความเสียหายต่อองค์กร ดังนั้นองค์กรในตลาดทุนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอย่างมากด้วย
เรื่องที่ 4 การพัฒนาด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ในปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจอย่างมากจากคนรุ่นใหม่ ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่มีตัวเลือกมากขึ้นในการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก นอกเหนือไปจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการลงทุนในตลาดหลัก คือ ตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพิ่มการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในตลาดทุน แต่อย่างไรก็ดี ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากมีสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง มีความไม่แน่นอนของกฎระเบียบและการกำกับดูแล รวมทั้งความเสี่ยงในการยืนยันตัวตน และปัญหาภัยทางไซเบอร์
สำหรับประเทศไทยนั้น ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ cryptocurrency, investment token และ utility token โดยภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ อาจเลือกระดมทุนด้วยการออก investment token และ utility token
ตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีการเตรียมพร้อม platform ที่มีลักษณะเป็น open architecture ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตทำธุรกิจ digital asset exchange ที่พร้อมเชื่อมต่อและให้บริการร่วมกับ partner ต่างๆ เพื่อให้บริการการลงทุน การระดมทุน และบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยจะเน้นให้บริการด้าน digital tokens ทั้ง utility และ investment token
เรื่องที่ 5 ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) หลักธรรมาภิบาลหรือ governance ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน 
การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูล ESG พร้อมกับการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน นับเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร
นอกจากจะส่งเสริมการนำหลัก ESG มาพัฒนาการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบการของธุรกิจแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ส่งเสริมเรื่อง ESG ให้กับทุก stakeholders ในตลาดทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ การปลูกป่า และเตรียมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
นายประสาร กล่าวว่า ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ ผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย และเมื่อมองไปข้างหน้า ซึ่งน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
“ก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องพร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้อง “Rethink” และ “Redesign” เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายประสาร กล่าว