อึ้ง! “กมธ.ศึกษารวม TRUE-DTAC” พบ กสทช.แก้ กม.ลดอำนาจฟันควบกิจการ
กมธ.วิสามัญพิจารณาการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง TRUE-DTAC ส่งหนังสือด่วนที่สุดขอนายกรัฐมนตรี ชะลอการควบรวมกิจการหลังพบอาจเกิดการผูกขาดอำนาจในตลาด ขณะเดียวกันยังพบปัญหาข้อกฎหมาย หลัง กสทช.แก้ไขกฎหมาย ทำไร้อำนาจตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และการการค้าปลีกค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร ที่มี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นประธาน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC หลังได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งตัวแทนจาก TRUE และ DTAC มาชี้แจง พบว่า ยังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงตลอดจนข้อกฎหมายหลายประเด็น ที่ยังไม่มีความชัดเจน และสังความกังวลให้กับสังคม
โดยประเด็นด้านผลกระทบต่อตลาดโทรคมานาคม ผลการศึกษาดัชนีการกระจุกตัวอุตสาหกรรม หรือ HHI พบว่า หากมีการรวมธุรกิจกันครั้งนี้ จะทำให้ค่า HHI สูงขึ้นมากกว่า 2,500 จุด และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 1,000 จุด ซึ่งส่งผลต่อสภาวะการแข่งขัน และสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเหนือตลาด และเป็นอุปสรรคสำหรับการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณอันตรายในการลดการแข่งขันอย่างเสรี
ประเด็นด้านข้อกฎหมาย ยังจำเป็นต้องมีการตีความกฎหมาย กฎ กติการในการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ว่าจะเป็นไปตามประกาศฉบับใด และทั้ง 2 กิจการเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ หลังพบว่า ประกาศเรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมานคม พ.ศ. 2561 ข้อ 5 ได้ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่ง กสทช.จะไม่มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมกิจการ เป็นเพียงการรับทราบรายงานเท่านั้น
ในขณะที่ประกาศ เรื่อง มาตราการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8 ของสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ยังต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการ หากมีการควบรวมกิจการในธุรกิจประเภทเดียวกัน ด้วยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 จากจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น จึงทำให้ประกาศทั้ง 2 ฉบับยังเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่ขัดกันในมุมมองของกฎหมาย
ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการพิจารณาอนุญาตในการรวมธุรกิจระหว่างคณะกรรมการ กสทช.ชุดเก่าและใหม่ เนื่องจากการพิจารณาการรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC ได้เริ่มต้นกระบวนการโดยคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิม ทั้งเรื่องการแก้ไขประกาศต่างๆ การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ และอนุกรรมการในการพิจารณาศึกษาข้อมูล ก่อนจะมีการแต่งตั้ง กสทช.ใหม่ เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อ บนเงื่อนเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งครบกำหนด 90 วันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 อาจส่งผลต่อความรอบคอบ รอบด้านในการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหม่ จนอาจเกิดการผิดพลาดในการตัดสินใจ
ประเด็นการคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระ ของ กสทช. เพื่อมาพิจารณาความเห็น และจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.ตามกฎหมาย พบว่า คุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระนั้น อาจไม่มีความเป็นอิสระจริง รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกรรมการอิสระที่ กสทช.ได้มีการกำหนดไว้เอง ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมาธิการได้ทักท้วงและเสนอรายละเอียดต่อตัวแทน กสทช.แล้ว
ประเด็นข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของต่างประเทศ ที่สำนักงาน กสทช ได้นำมาประกอบการพิจารณา ในการตัดสินใจ ครั้งนี้ พบว่า เป็นผลการสื่อสาร ที่ไม่ทันสมัย ไม่มีความเป็นปัจจุบัน และไม่ทันต่อบริบท ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
ประเด็นแนวทางการกำหนดมาตรการ ของหน่วยงานกำกับดูแล ที่จะดำเนินการในการควบคุม การกำกับดูแล การรวมธุรกิจครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้การรวมธุรกิจ เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชน และประเทศชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ประเด็นข้อกังวลของสังคม และองค์กรต่างๆ อาทิ หนึ่งในคณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ได้มีการยื่นหนังสือถึง กสทช. เรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่ และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ และยกเลิกประกาศกสทช เรื่องมาตรการกำกับดูแล การรวมธุรกิจ ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 แล้วนำประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2531 กลับมาใช้ หรือ นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อออกประกาศใหม่ ที่มีมาตรฐานเดียวกันมาใช้ ในการประกอบการพิจารณาดำเนินการ เพื่อมีคำสั่ง ไม่ให้มีการควบรวมธุรกิจ ของ TRUE และ DTAC เพราะจากการศึกษาในขั้นต้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญพบว่า การรวมธุรกิจในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เกินร้อยละ50 และลดการแข่งขันทางการค้า จำกัดการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ยากที่จะเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการตรวจสอบ และการกำกับดูแลจากภาควิชาการ ตลอดจนสภาองค์กรผู้บริโภคด้วย
จากประเด็นทั้งหมดนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงมีข้อเสนอ ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูล และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว เป็นที่ชัดเจน ว่าจะสามารถปกป้องประเทศชาติ และประชาชนจากผลกระทบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พบว่า นอกเหนือจากการผูกขาดตลาด จนส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี และมีผลต่อผู้บริโภค เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเกิดผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมหน้าใหม่ เป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการใช้บริการ ประเด็นข้อกฎหมายต่อผู้มีอำนาจให้การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่าง กสทช. โดยเฉพาะประกาศเรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศลดทอนอำนาจของ กสทช.ทั้งที่เป็นหน่วยงานควบคุม และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ให้เป็นเหลือเพียงการรับทราบการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น