สภานายจ้างฯ ค้านขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” เหตุศก.ช่วงนี้ไม่เอื้อ

สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ค้านขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำช่วงนี้  เหตุเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัว หวั่นกระทบเป็นลูกโซ่ พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอขึ้นค่าแรง 429 บาท/วัน


นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ พร้อมตัวแทนสภาองค์การนายจ้าง เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เพื่อยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเป็นจริง และไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับในช่วงนี้ โดยเฉพาะการขึ้นจาก 331 บาทต่อวัน ไปเป็น 492 บาทต่อวันทั่วประเทศ

นายทวีเกียรติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ มีมติยังไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน-รัสเซียยังไม่นิ่ง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ

ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งจะมีคณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

โดยในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จภายในเดือน กรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2565

Back to top button