ส่องหุ้น “BIS” ไอพีโอน้องใหม่ ระดมทุน 564 ลบ. ต่อยอดธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์

ทำความรู้จัก “ไอพีโอ” น้องใหม่ BIS ก่อนลงสนามเทรด mai 5 พ.ค.นี้ ระดมทุน 564 ลบ. ขยายฐานโรงงานผลิตต่อยอดธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ โดยมี "เมย์แบงก์" เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIS ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง

โดยมุ่งเน้นคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพด้วยทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 94,000,000 หุ้น คิดเป็น 29.94% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ด้านนายสัตวแพทย์ ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BIS เปิดเผยว่า ไบโอซายน์” เป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงของคนไทย รายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทฯ เป็น 1 ในผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่าย ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์สัตว์ของไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ระดับนานาชาติจำนวนมากอย่างต่อเนื่องกว่า 18 ปี และ มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยตรง

โดยล่าสุดในปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 54 ล้านบาทในปี 2563 และมีรายได้รวม 1,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 1,784 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ BIS มีจุดเด่นที่หลากหลาย อาทิ การเป็นผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ โดยนำเข้าจากผู้จัดจำหน่ายชั้นนำระดับโลก เป็นเจ้าของแบรนด์เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์หลากหลายแบรนด์ และมีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตนเองที่ได้มาตรฐานสากล

อีกทั้ง บริษัทฯ ยังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาด้านสุขอนามัยของโลก เช่น การพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 แบบ Real Time PCR (RT PCR) ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจดังกล่าว โดยเป็นบริษัทรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากองค์กรอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อีกทั้ง บริษัทฯ ยังเป็นผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายชุดตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างสูง มียอดขายเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ พร้อมผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 4 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ ต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 94 ล้านหุ้น กำหนดราคาเสนอขาย ที่ราคา 6.00 บาท/หุ้น (มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท) หรือคิดเป็น 29.94% ของทุนจดทะเบียนหลัง IPO คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนประมาณ 564 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทฯมีวัตถุประสงค์หลักจะนำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ไปต่อยอดธุรกิจด้วยการขยายโรงงานการผลิตสินค้าและการลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักร เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับปศุสัตว์ และเพื่อต่อยอดการผลิตวัคซีนในเชิงพาณิชย์ ส่วนที่เหลือจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน โดยบริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่าง ๆ ตามกฎหมาย

ด้าน นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายของ BIS ในการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เปิดเผยว่า หุ้นไอพีโอของ BIS ที่ราคา 6.00 บาท เป็นการให้ส่วนลดนักลงทุนประมาณ 15% – 30% จากราคาประเมินโดยนักวิเคราะห์ ซึ่งคาดว่าหุ้นไอพีโอ BIS จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างสูง เนื่องด้วย BIS มีโอกาสเติบโตสูง อยู่ในธุรกิจด้านไบโอเทคซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรม New S-Curve ของรัฐบาล

อีกทั้ง BIS มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ และ ความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับลูกค้าและพันธมิตรธุรกิจจำนวนมากทั้งบริษัทระดับนานาชาติและบริษัทไทย อีกทั้งอยู่ในอุตสาหกรรมด้าน ยา วัคซีน และ เวชภัณฑ์สัตว์ ซึ่งเปรียบเสมือน จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีความสำคัญและมีมูลค่าสูง จึงมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกอาหารสูงติดอันดับโลก เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในครัวของโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านบาทในปี 2565

นอกจากนั้น BIS ยังให้ความสำคัญแก่งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศไทย  และได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาชุดเครื่องตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) และชุดตรวจโควิด -19 แบบ RT PCR ที่สามารถต่อยอดการใช้งานและการเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

รวมทั้งบริษัทฯ มีการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรธุรกิจระดับสูง อดีตผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ และนักวิชาการด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ BIS จึงเป็นบริษัทที่มีการบริหารแบบมืออาชีพ มีความคล่องตัวสูง มีธรรมาภิบาลที่ดี

ทั้งนี้ หุ้นไอพีโอ BIS ที่เปิดให้นักลงทุนจองซื้อระหว่างวันที่ 25-28 เมษายนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจในการจองซื้ออย่างล้นหลาม จากทั้งกลุ่มนักลงทุนระยะยาว  และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ BIS และมีโอกาสเติบโตสูง อยู่ในธุรกิจด้านไบโอเทค ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรม New S-Curve ของรัฐบาล

อนึ่ง BIS เป็นเจ้าของแบรนด์เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์หลากหลายแบรนด์ โดยมีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตนเองที่ได้มาตรฐานสากล บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพสัตว์ครบวงจร  คือ 1.ผลิตภัณฑ์รักษาและป้องกันโรคสำหรับสัตว์ (Animal Health Product) 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินสำหรับสัตว์ (Nutrition Product) 3. ผลิตภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยโรคสำหรับสัตว์ (Diagnostic Product) 4. ผลิตภัณฑ์อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ (Complete Feed Product) 5. ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ (Ingredient Product) 6. ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยบริษัทฯ มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่จำนวนมากในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกอาหารสูงติดอันดับโลก เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในครัวของโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านบาท ในปี 2565

โดยกำไรสุทธิของ BIS ในงวดปี 2562 ถึง 2564 อยู่ที่ 61.35 ล้านบาท 54.45 ล้านบาท และ 68.63 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 3.26 ร้อยละ 3.05 และร้อยละ 3.45 ของรายได้รวม

ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิสำหรับงวดปี 2564 เพิ่มขึ้นจากงวดปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักมาจากบริษัทฯมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจาก ปี 2563 มีรายการ Non-recurring ในงวดดังกล่าว ได้แก่ รายการรายจ่ายโดยการใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งในปี 2564 ไม่มีรายการดังกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) ในปี 2564 ทำให้ต้องมีรายการบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมเท่ากับ 0.66 ล้านบาท ซึ่งเป็นการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากที่เคยบันทึกไว้แล้วในปี 2563 ที่บันทึกไว้ 17.47 ล้านบาท จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง

Back to top button