1 พ.ค. 65 ของ (จะ) แพง ทั้งแผ่นดิน?

การปรับขึ้นราคาน้ำมัน “ดีเซล” ในวันที่ 1 พ.ค. 65 จะเป็นครั้งแรกที่ราคาทะลุลิตรละ 30 บาท นำไปสู่คำถามว่า ท้ายที่สุดแล้วราคาจะไปจบที่เท่าไร เพราะนั้นเท่ากับค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


กลายเป็นสถานการณ์ที่ต้องบอกว่า “กลืนไม่เข้า คลายไม่ออก” ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคขนส่ง และรัฐบาล หลังจากที่กระทรวงพลังงาน โดย “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ต้องยอมปล่อยให้ราคาน้ำมัน “ดีเซล” ที่พยายามยื้อกันมาเป็นแรมปีทะลุ 30 บาท/ลิตร เป็นครั้งแรก ตามกลไกราคาในตลาด หลังราคาน้ำดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลา

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ตัดสินใจปรับราคาน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 มากกว่า 30 บาท/ลิตร นั้นเป็นเพราะสถานะการเงินของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งค่อยทำหน้าที่รักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้เกิดคามผันผวนมากเกินไป เริ่มมีปัญหา แม้ว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” จะมีเงินฝากธนาคาร 2,741 ล้านบาท รวมกับเงินฝากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังอีก 9,675 ล้านบาท รวมเป็นกระแสเงินสดปัจจุบันที่ 12,416 ล้านบาท

แต่หากดูรายจ่ายของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”  ประจำเดือน เมษายน 2565 พบว่า มีรายจ่ายประมาณเดือนละ 22,242 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันเดือนละ 20,779 ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,174 ล้านบาท ส่วนประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เมษายน 2565 ติดลบ 56,278 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,976 ล้านบาท

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ กระทรวงพลังงานเสนอให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.อนุมัติในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กู้เงินจากสถาบันการเงิน เสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมกับการปรับแนวทางการช่วยเหลือราคาน้ำมัน “ดีเซล” จากเดิมที่ตรึงราคาขายปลีกไม่เกินลิตรละ 30 บาท  ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 เมษายน 2565 เป็นการเข้าไปช่วยเหลือครึ่งหนึ่งจากราคาน้ำมัน “ดีเซล” ที่เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”

ส่วนคำถามที่ตามมานั้นคือ  วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ราคาน้ำมันขายปลีก “ดีเซล” จะอยู่ที่ระดับเท่าใด เพราะหากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมัน “ดีเซล”  ณ.วันที่ 29 เมษายน 2565 จำนวน 1 ลิตร แบ่งเป็น  ราคาหน้าโรงกลั่น 34.5134 บาท , ภาษีสรรพสามิต 3.2000 บาท , ภาษีท้องถิ่น 0.3200 บาท , เก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.0050 บาท โดยงดเว้นการจัดเก็บเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” และช่วยจ่าย 10.8900 บาท ทำให้ราคาขายส่งอยู่ที่ 27.1484 บาท  เมื่อรวมกับภาษีขายส่ง 1.9004 บาท จะได้ราคาขายส่ง 29.0488 บาท

จากนั้นเมื่อนำไปขายปลีกหน้าสถานีน้ำมัน จะมีค่าการตลาด 0.8329 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.0583 บาท ทำให้ราคาขายปลีกจึงอยู่ที่ลิตรละ 29.94 บาท  ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ไม่ได้มีการหักส่วนต่างในราคาน้ำมันเข้าสู่กองทุนตามกลไกของราคาน้ำมัน และยังต้องนำเงินเข้ามาอุดหนุนราคาน้ำมันตามมติ ครม. ซึ่งหาก “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ยุติการนำเงินเข้าไปแทรกแซงราคา จะทำให้ราคาน้ำมัน “ดีเซล” ขายปลีกที่แท้จริงจะอยู่ที่ลิตรละ 40.83 บาท  และจากการอุดหนุนเพียงครึ่งเดียวตามมติ ครม.จะทำให้เพดานราคาน้ำมัน “ดีเซล”อยู่ที่ลิตรละ 35 บาท


ทั้งนี้จากการประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เห็นว่าการปรับราคาขายปลีกน้ำมัน “ดีเซล” ขึ้นไปเป็นลิตรละ 35 บาททันที อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะค่าขนส่งสินค้า ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมัน “ดีเซล” เป็นเชื้อเพลิงในการขนส่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการปรับขึ้นราคาน้ำมันแบบ “ขั้นบันได”  โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาน้ำมัน “ดีเซล. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จะขึ้นมาอยู่ที่ลิตรละ 32 บาทตามมติของ กบน. จากนั้นเป็นการเฉลี่ยสถานการณ์ราคาตลอดสัปดาห์ หากภาพรวมราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้น ก็จะประกาศขึ้นราคาทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 บาท โดยราคาสูงสุดไม่เกินลิตรละ 35 บาท หากราคาโลกไม่เปลี่ยนแปลง ราคาขายปลีกจะคงที่ แต่หากตลาดโลกลดลง ก็จะปรับขายปลีกลงเช่นกัน

สำหรับภาพรวมที่เกิดขึ้นกับราคาน้ำมัน “ดีเซล” ในเวลานี้ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจนำมาสู่ยุค “ข้าวยากหมากแพง” เพราะจากราคาน้ำมัน “ดีเซล” ที่ปรับเพิ่มขึ้นทะลุไปอยู่ที่ลิตรละ 32 บาท ทำให้ผู้ประกอบการขนส่ง เตรียมขึ้นค่าขนส่งสินค้าเบื้องต้นอีกร้อยละ 20 ตามต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไป นั้นเท่ากับว่า ต้นทุนของสินค้าต่างๆจากค่าขนส่ง จะปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย เห็นได้จากเจ้าของสินค้าหลายราย แม้จะยังไม่สามารถปรับราคาขายปลีกได้ในเวลานี้ เพราะต้องแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์รับทราบ แต่เริ่มปรับขึ้นราคาขายส่งให้กับร้านค้าขายปลีกต่างๆแล้ว

นอกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมัน “ดีเซล” นับจากนี้แล้ว มาตรการทางภาษีที่ ครม.ได้เคยอนุมัติเพื่อมาช่วยเหลือราคาน้ำมัน โดยงดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันจำนวน 3 บาท จากเดิมที่ต้องจัดเก็บจำนวน 6 บาทตามโครงสร้างราคาน้ำมัน จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565  นั้นเท่ากับว่า ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ หากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการภาษีสรรพสามิต จะทำให้ราคาน้ำมัน “ดีเซล” ขายปลีกมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกลิตรละ 3 บาท หากในเวลานั้นราคาน้ำมัน “ดีเซล” เพิ่มขึ้นชนเพดานลิตรละ 35 บาท ราคาขายปลีกหลังวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ อาจสูงถึงลิตรละ 38 บาท

นับจากนี้น้ำมัน “ดีเซล” จะเป็นปัญหาสำคัญที่วัดใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเป็นปัญหานี้อย่างไร เมื่อน้ำมัน “ดีเซล” ไปผูกกับค่าขนส่ง และค่าขนส่งไปผูกกับต้นทุนราคาสินค้า จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และหาก “ประชาชนเดือดร้อนกับปัญหาปากท้องเท่าใด ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงรัฐบาลเท่านั้น

Back to top button