เงินบาทเปิดเช้า อ่อนค่า 34.44 บ. หลังดอลลาร์แข็งรอบ 4 ปี
เงินบาทเปิดเช้า อยู่ที่ 34.44 บ./ดอลลาร์ อ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค หลังดอลลาร์แข็งในรอบ 4 ปี โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5%
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 34.44 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 34.18 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งเมื่อคืนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะที่ระดับ 3% ถือว่าสูงสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561 ซึ่งทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพรุ่งนี้
โดยวันนี้เนื่องจากเป็นวันหยุดของประเทศญี่ปุ่น ตลาดจึงอาจเบาบาง ส่วนเมื่อคืนนี้ทองคำลงแรง หลุดระดับ 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ ไปแล้ว วันนี้จึงอาจมี flow นำเข้าทองคำได้” นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.35 – 34.55 บาท/ดอลลาร์ THAI BAHT FIX 3M (29 เม.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.55263% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.65843%
สำหรับปัจจัยสำคัญ 1.เงินเยนอยู่ที่ระดับ 130.03 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 130.02 เยน/ดอลลาร์ 2.เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0516 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0579 ดอลลาร์/ยูโร 3.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.338 บาท/ดอลลาร์ 4.ตลาดหุ้นจีนปิดทำการในวันนี้ เนื่องในวันแรงงาน ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการในวันนี้ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 5.ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (2 พ.ค.)
โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนพ.ค. เพื่อสกัดเงินเฟ้อ นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้น ดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูถ้อยแถลงภายหลังการประชุมของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ก.พ.
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนเม.ย. โดยลดลงแตะ 55.4 จากระดับ 57.1 เมื่อเดือนมี.ค. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 57.6 ในเดือนเม.ย.
สำหรับเมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วง โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ตลาดทองคำยังได้รับปัจจัยลบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค.
ด้านนักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นไทยจากระดับ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) สู่ระดับ “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) ในวันนี้ โดยให้เหตุผลว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า อันเป็นผลจากปัญหาเงินเฟ้อ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในจีนซึ่งยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากเอสแอสด์พี โกลบอล, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.