สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 พ.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 พ.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุดในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,997.97 จุด ดิ่งลง 1,063.09 จุด หรือ -3.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,146.87 จุด ลดลง 153.30 จุด หรือ -3.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,317.69 จุด ร่วงลง 647.16 จุด หรือ -4.99%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงหลังจากที่บวกขึ้นในช่วงเช้าโดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75%

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 438.26 จุด ลดลง 3.11 จุด หรือ -0.70%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,368.40 จุด ลดลง 27.28 จุด หรือ -0.43%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,902.52 จุด ลดลง 68.30 จุด หรือ -0.49% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,503.27 จุด เพิ่มขึ้น 9.82 จุด หรือ +0.13%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และจากการร่วงลงของค่าเงินปอนด์หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เตือนว่าเศรษฐกิจอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,503.27 จุด เพิ่มขึ้น 9.82 จุด หรือ +0.13%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) โดยตลาดยังคงได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ตลาดน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวมากขึ้น หลังสหภาพยุโรป (EU) ส่งสัญญาณเตรียมคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 45 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 108.26 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 76 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 110.90 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) เนื่องจากการทรุดตัวของตลาดหุ้นสหรัฐและข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ เป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 6.9 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 1,875.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 4.1 เซนต์ หรือ 0.18% ปิดที่ 22.443 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 6.2 ดอลลาร์ หรือ 0.63% ปิดที่ 973.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 58.60 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 2,177.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ก็ตาม

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.14% แตะที่ 103.7540

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.31 เยน จากระดับ 128.73 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ  0.9873 ฟรังก์ จากระดับ 0.9747 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2853 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2740 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0519 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0621 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2350 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2581 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7095 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7232 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button