ไทยพบติดเชื้อโควิด “โอมิครอน” สายพันธุ์ “BA.5-BA.2.12” แล้ว 3 ราย
สธ. ออกโรงเตือน "ไทย" พบชาวต่างชาติติดเชื้อโควิด “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย “BA.5-BA.2.12” รวม 3 ราย ยันไม่พบสายพันธุ์ย่อย “BA.2.12.1-BA.4” ในไทย
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 30 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2565 พบว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% โดยสัดส่วนสายพันธุ์ย่อยของ BA.2 อยู่ที่ 97.6%
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในเดือนเมษายน 2565 มีสายพันธุ์ที่กำลังเฝ้าจับตา คือ สายพันธุ์ย่อยใหม่ของโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีการระบาดในบอตสวานา, แอฟริกาใต้, เยอรมัน, เดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่นๆ หลังจากพบสายพันธุ์ย่อย B.4 และ BA. 5 ครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ 2565
นอกจากนี้ ทั่วโลกยังจับตาสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2.12.1 ซึ่งพบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีรายงานพบ BA.2.12.1 เช่น แคนาดา และอินเดีย ยังพบในสัดส่วนน้อย
ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) ในประเทศไทย โดยเบื้องต้นพบ BA.5 จำนวน 1 ราย สัญชาติบราซิล และ BA.2.12 จำนวน 2 ราย สัญชาติอินเดีย และแคนาดา ส่วน BA.2.12.1 และ BA.4 ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด
“โดยในส่วนของ BA.4 พบข้อมูลว่า มีบางส่วนคล้าย BA.1 และ BA.2 หรือมีการกลายพันธุ์ของสไปค์โปรตีน ซึ่งเหมือนกับที่เคยเกิดในเดลตา อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะระบุว่าจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดรวดเร็ว หรือมีความรุนแรงเท่าเดลตาหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
ส่วนในผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 พบว่า ภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากพอ แต่ในผู้ติดเชื้อที่เคยฉีดวัคซีน ภูมิยังสามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า สำหรับการตรวจสายพันธุ์ที่เป็น Hybrid (X…) ทาง GISAID ยังไม่กำหนดว่าตัวอย่างจากประเทศไทย เข้าได้กับ X ใดๆ ดังนั้น สรุปได้ว่าสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก่อนหน้านี้ เช่น XJ ถือว่าเป็นโมฆะ หรือไทยยังไม่มีไฮบริด (Hybrid)
“กรมวิทย์ฯ จะทำการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์แบบ SNP/Deletion ในทุกศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อดูสถานการณ์ทั้ง BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ต่อไป และทำการตรวจ WGS ทุกสายพันธุ์ในทุกสัปดาห์ ส่วนสายพันธุ์ย่อยทั้งหมดยังไม่มีข้อมูลมากพอ ยังต้องติดตามดูในเรื่อง ความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง และการหลบหลีกภูมิต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในระบบของไทย และไม่วิตกกังวลไปก่อน หากยังไม่ได้รับข้อมูลที่แน่ชัด” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง
โดยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากระยะ Plateau (23 จังหวัด) เข้าสู่ระยะ Declining (54 จังหวัด) ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic หรือโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคติดต่อทั่วไปหรือโรคประจำถิ่น หลังช่วงสงกรานต์แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ป่วยหนักเริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับ 2 เข็มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ดังนั้น ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และสตรีมีครรภ์ต่อเนื่อง รวมไปถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี เน้นย้ำกลุ่ม 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้เสี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก รวมทั้งหากไม่จำเป็น ให้เลี่ยงการเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศ และเลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วย
“โดยการลดระดับเป็นระดับ 3 เป็นการเตือนภัยของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่อย่างใด” นายแพทย์โอภาส กล่าว
ขณะเดียวกันให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในมิติต้านเศรษฐกิจและสังคม เร่งบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมตามมาตรการ
“ทั้งนี้ การเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีแนวโน้มเร็วกว่าที่คาดไว้ล่วงหน้า จากความร่วมมือของประชาชนทุกคน โดยแต่ละจังหวัดสามารถเข้มมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมให้ไทยเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้” นายแพทย์โอภาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนปฏิบัติตาม “2U” คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยเน้นกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ คือ พอทั้งเตียงสีเหลืองและสีแดง, ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีเพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐานทั้งแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ
“สำหรับในช่วงการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ กรมควบคุมโรค จะใช้วิธีการและหลักการเดียวกันกับการจัดการควบคุมโรคโควิดของการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัย คือ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนัก และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในรายละเอียดต่อไป” นายแพทย์โอภาส กล่าว