สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 พ.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 พ.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดในวันจันทร์ (9 พ.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ดิ่งหลุดจากระดับ 4,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นเป็นวงกว้าง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,245.70 จุด ร่วงลง 653.67 จุด หรือ -1.99%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,991.24 จุด ลดลง 132.10 จุด หรือ -3.20% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,623.25 จุด ลดลง 521.41 จุด หรือ -4.29%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันจันทร์ (9 พ.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน นำโดยหุ้นกลุ่มเดินทางและสันทนาการ รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งขึ้นได้กระตุ้นแรงเทขายหุ้น
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 417.46 จุด ลดลง 12.45 จุด หรือ -2.90%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,086.02 จุด ลดลง 172.34 จุด หรือ -2.75%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,380.67 จุด ลดลง 293.62 จุด หรือ -2.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,216.58 จุด ลดลง 171.36 จุด หรือ -2.32%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงในวันจันทร์ (9 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในจีนด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,216.58 จุด ลดลง 171.36 จุด หรือ -2.32% โดยดัชนี FTSE 100 ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 6% ในวันจันทร์ (9 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้และบางส่วนของกรุงปักกิ่งเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 6.68 ดอลลาร์ หรือ 6.1% ปิดที่ 103.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 6.45 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 105.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,860 ดอลลาร์ในวันจันทร์ (9 พ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 24.2 ดอลลาร์ หรือ 1.29% ปิดที่ 1,858.6 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 54.7 เซนต์ หรือ 2.45% ปิดที่ 21.82 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 17.5 ดอลลาร์ หรือ 1.83% ปิดที่ 938.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 38.30 ดอลลาร์ หรือ 1.89% ปิดที่ 2,061.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐปิดตลาดอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (9 พ.ค.) หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในระหว่างวัน ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.01% แตะที่ 103.6510 หลังจากพุ่งขึ้นทะลุระดับ 104 แตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.31 เยน จากระดับ 130.57 เยน แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9930 ฟรังก์ จากระดับ 0.9882 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2989 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2906 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0567 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0550 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2344 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2333 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6959 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7076 ดอลลาร์