ต้นทุนพุ่ง-อัตราแลกเปลี่ยนลด ฉุดงบ PACO ไตรมาส 1 กำไรหด 41% เหลือ 17 ลบ.

ต้นทุนพุ่ง-กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลด ฉุดงบ PACO ไตรมาส 1/65 กำไรลด 41% เหลือ 17 ลบ. จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 29 ลบ.


บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PACO รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีดังนี้

โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 180.82 ล้านบาท ลดลง 1.04 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 0.57% ส่วนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 0.01 ล้านบาท ลดลง 6.63 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 99.85% สาเหตุเกิดจากในช่วงไตรมาส 1/2564 ทิศทางของค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือน ทำให้เกิดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง

สำหรับต้นทุนขาย อยู่ที่ 150.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.32 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็น 12.21% สาเหตุเกิดจากราคาของวัตถุดิบคือ อลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับในระหว่างงวดมีค่าใช้จ่ายค่าซ่อมแซมเครื่องจักรทที่สูงทำให้ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้กำไรขั้นต้น อยู่ที่ 30.80 ล้านบาท หริอคิดเป็น 17.03% ของรายได้จากการ ลดลง 17.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.06% สาเหตุมาจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอลูมิเนียม และค่าใช้จ่ายค่าซ่อมแซมเครื่องจักรที่สูง

อย่างไรก็ดีนายสมชาย เลิศขจรกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACO เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวและกลับสู่การเติบโตอีกครั้ง

สำหรับแผนการขยายธุรกิจในปีนี้ PACO มุ่งมั่นที่จะขยายทั้งตลาดส่งออก และตลาดในประเทศซึ่งจะใช้กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายร้านอะไหล่แอร์รถยนต์ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ PACO Auto Hub (พาโก้ ออโต้ ฮับ) เพื่อสร้างแบรนด์ PACO ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ในประเทศ เพื่อเพิ่มยอดขายในประเทศและเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ แบรนด์ของคนไทย โดยตั้งเป้าหมายที่ จะมีร้าน PACO Auto Hub จำนวน 300 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันได้เปิดไปแล้วกว่า 150 สาขา ทั่วประเทศ โดยภายในร้านจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ คอยล์ร้อนและคอยล์เย็นแบรนด์ PACO เป็นหลัก และมีสินค้าอื่นๆ อาทิเช่น ท่อน้ำยาแอร์ น้ำยาแอร์ เพื่อเป็นการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรในที่เดียว (One-Stop Solutin)

นอกจากนี้ PACO เตรียมขยายตลาดส่งออก ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งนำโดย สหรัฐอเมริกา และ จีน จากความสามารถในการควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมา อีกทั้งปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้คลี่คลายลงอย่างมาก ทำให้บริษัทฯ สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ PACO คาดว่าจะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในครึ่งปีหลังอีกด้วย โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นตลาดตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และอาเซียน โดยในครึ่งปีหลัง PACO เตรียมจะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เพื่อเจาะตลาด และเพิ่มยอดขายในมาเลเซียอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ PACO เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น 1 ในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Hub) ของเอเชีย เนื่องจาก PACO เป็นผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ (OEM Manufacturer) ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า คือ  Battery cooler และ ชิ้นส่วนแอร์รถยนต์สำหรับรถไฟฟ้า (EV) แบบ BEV (Battery EV) และ PHEV (Plug-in Hybrid) ในรูปแบบอะไหล่ทดแทน (REM) เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ

โดย PACO ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ธุรกิจ OEM หรือ รับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์ให้ผู้ผลิตรถยนต์ โดยได้เซ็นต์สัญญากับลูกค้าใหญ่รายแรกคือ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่มุ่งเน้นรถยนต์ไฟฟ้า EV และ Plug-in Hybrid (PHEV) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง PACO ได้รับออเดอร์มูลค่าถึง 1,200 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงรองรับกว่า 5 ปี สำหรับธุรกิจ OEM และ รองรับรายได้ 10 ปีสำหรับธุรกิจรับจ้างผลิตอะไหล่ (OES) ยิ่งกว่านั้น บริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตหลายแห่ง เพื่อนำเสนองานรับจ้างผลิตชิ้นส่วนแอร์รถยนต์และชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ มองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ OEM ที่ชัดเจน มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

รวมถึงนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนมาก อีกทั้งการทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จำนวนมากของค่ายรถยนต์เข้าสู่ตลาด และ PACO มีไลน์การผลิต อุปกรณ์เครื่องจักรมาตรฐานสากล พร้อมผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อีกทั้งมีคู่แข่งน้อยรายในธุรกิจ จึงเชื่อมั่นว่า PACO มีโอกาสรับงานรับจ้างผลิต OEM ได้อีกจำนวนมาก

Back to top button