CPF ปลื้ม “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ตอบแทนสังคม สร้างเงินให้เกษตรกร 4.6 พันลบ.

CPF ปลื้ม “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ภายใต้หลักคิด “เกษตรกรคือคู่ชีวิต” ตอบแทนสังคม สร้างรายได้ให้เกษตรกรจำนวน 4,574 ลบ. เพิ่มความสุขเกษตรกร ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างสังคมสู่ความยั่งยืน


นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมกับ Social Value Thailand องค์กรชั้นนำด้านมาตรฐานการประเมินผลตอบแทนทางสังคมตามมาตรฐานสากล ได้ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ หรือ ผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment : SROI) ของการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ของซีพีเอฟ คำนวณคุณค่าของโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย เกษตรกรในโครงการฯ ผู้ดำเนินงานของซีพีเอฟ ชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ และคู่ค้าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ซึ่งได้รับรองความถูกต้องของข้อมูลจากองค์กรภายนอก

ทั้งนี้ พบว่าเกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรฯ ประเภทประกันรายได้จำนวน 3,093 ราย ได้รับผลตอบแทนทางสังคม (SROI) 4.28 เท่า คิดเป็นมูลค่า 4,574 ล้านบาท แบ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจมีมูลค่า 4,144 ล้านบาท เป็นสัดส่วนร้อยละ 91 ของผลสัมฤทธิ์ทั้งหมด ผลตอบแทนด้านสังคมมีมูลค่า 376 ล้านบาท ส่วนผลสัมฤทธิ์ด้านสิ่งแวดล้อมอีก 54 ล้านบาท

“การประเมินผลตอบแทนทางสังคมของโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ ช่วยสะท้อนถึงความสำเร็จของโครงการฯ ที่รวมถึงผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน อาทิ ความมั่นคงและโอกาสที่เกษตรกรและครอบครัวได้รับ รวมถึงช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงด้านอาหาร สอดคล้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ อย่างโปร่งใสและรอบด้านอีกด้วย” นายสมพงศ์ กล่าว

สำหรับตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ทางซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming)  แก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด “เกษตรกรคือคู่ชีวิต” ที่ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคไทยและทั่วโลก การประเมินผลตอบแทนทางสังคมเกษตรกรเลี้ยงสุกรขุนแบบประกันรายได้ในครั้งนี้ยังช่วยให้บริษัทฯ บริหารจัดการผลสัมฤทธิ์จากโครงการฯ เปรียบเทียบกับโอกาสการลงทุนในด้านต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาและขยายผลการดำเนินโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และรองรับความต้องการของผู้บริโภค

โดยผลตอบแทนในมิติเศรษฐกิจ นอกจากการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจากการเลี้ยงสุกรแล้ว โครงการฯ ยังช่วยลดความเสี่ยงเปรียบเทียบกับการเป็นผู้ประกอบการเอง มีตลาดรองรับสินค้าแน่นอน มีความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตอาหารในด้วยมาตรฐานเดียวกับบริษัท ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคระบาด และยังมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการใช้พลังงานที่มาจากระบบก๊าซซีวภาพจากมูลสุกร (biogas)ทดแทนการใช้กระแสไฟฟ้า และที่สำคัญ จากการดำเนินโครงการฯ กับบริษัทฯ ช่วยให้เกษตรกรมีเครดิตในการเข้าถึงแหล่งทุนจากธนาคารได้ง่าย ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินไม่ต้องกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยสูง และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจในสังคมควบคู่กัน

สำหรับผลตอบแทนมิติด้านสังคม นอกจากจะช่วยส่งเสริมเกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้แล้วยังมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น ลูกหลานมีโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีสุขภาพที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วยจากลดใช้สารเคมี รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และเป็นที่ยอมรับจากชุมชน  และจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความมั่นคงในอาชีพและรายได้ยังช่วยเกษตรกรลดความกังวลในการชำระหนี้หรือการไม่มีงานทำอีกด้วย

นอกจากนี้ในส่วนของผลตอบแทนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผลจากเกษตรกรในโครงการฯ ได้รับการถ่ายทอดมีความรู้ด้านการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือระบบกรีนฟาร์ม การติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ (biogas) ในการบำบัดมูลสุกรและน้ำที่ใช้ในฟาร์ม ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบจากกลิ่นกับชุมชน พร้อมกันนี้ สามารถแบ่งปันน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากระบบก๊าซชีวภาพให้กับเกษตรกรนำมาเพาะปลูกพืชรอบฟาร์ม ส่งผลให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และบรรเทาผลกระทบจากการภัยแล้งได้อีกด้วย

ทั้งนี้โครงการคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ ยังสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติได้ถึง 9 ข้อ ประกอบด้วย ข้อที่ 1 การขจัดยุติความยากจน ข้อ 2 การขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร ข้อที่ 4 ส่งเสริมโอกาสการศึกษาที่มีคุณภาพ ข้อที่ 7 การเข้าถึงพลังงานที่ยั่งยืน ข้อที่ 8 การสร้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ข้อที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ข้อที่ 12 การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และข้อที่ 15 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก.

Back to top button