TPIPL ยันไม่ได้ลักลอบขุด “หินปูน” เดินหน้าใช้สิทธิฎีกา-ขอทุเลาบังคับคดี
TPIPL แจงชัดไม่ทำผิดตามที่ “กพร.” ฟ้องข้อหาลักลอบขุด “หินปูน” จำนวน 12.48 เมตริกตัน ยันไม่มีเหตุผลลักลอบ เดินหน้าใช้สิทธิฎีกา-ขอทุเลาบังคับคดีจนถึงที่สุด หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลแพ่ง
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ สว. 5/2559 ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทฯ ตาม พรบ.แร่ และพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังนี้
โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การคิดดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 11 เมยายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ใช้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรือปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท แก่จำเลข ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 200,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทฯ นำเอาแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จำนวน 12,484,023.50 เมตริกตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม หรือ ให้บริษัทฯ ชำระเงินต้นจำนวน 1,671,128,829.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,602,948,617 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
ทั้งนี้บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ มิได้กระทำผิดตามฟ้อง และบริษัทฯ ไม่มีเจตนาที่จะลักลอบนำเอาแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์จำนวน 12,484,023.50 เมตริกตัน ดังนั้นบริษัทฯ จะใช้สิทธิฎีกาและขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เนื่องจาก ณ วันที่บริษัทฯ ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด บริษัทฯ มีแร่หินอุตสาหกรรมในเขตประทานบัตรอยู่จำนวนประมาณ 600 ล้านมตริกตัน และเมื่อเวลาครบอายุประทานบัตรในเวลาสิ้นปีนี้ บริษัทฯ ก็ยังคงมีแร่หินอุตสาหกรรมในเขตประทานบัตรอยู่จำนวนประมาณ 400 ล้านเมตริกตัน บริษัทฯ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะลักลอบทำเหมืองแร่ตามที่ โจทก์กล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลักลอบกระทำความผิดตามที่โจทก็กล่าวอ้างมาในฟ้อง
นอกจากนี้ ในส่วนที่โจทก์อ้างว่าบริษัทฯ ทำผิดเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ โจทก็กำหนดไว้ตามประทานบัตรเนื่องจากเป็นกรณีความผิดที่สามารถเปรียบเทียบคดีได้ โจทก์จึงให้บริษัทฯ ทำการเปรียบเทียบคดีโดยการชำระค่าปรับซึ่งเป็นโทษทางปกครอง และเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทำให้คดีระงับ (เทียบเคียงนัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 51/2548) และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายกับโจทก์
อีกทั้งโจทก์เป็นส่วนราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังนั้นในส่วนของการเรียกร้องความรับผิดทางแพ่งจึงไม่อาจเรียกร้องได้ และเนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุดและยังไม่แน่นอน บริษัทฯ จึงยังไม่ได้บันทึกประมาณการหนี้สินจากคดีดังกล่าวไว้ในงบการเงินของบริษัทฯ