UAC ไตรมาส 1 รายได้โต 52% แย้ม Q2 ลุย “สถานีชาร์จรถไฟฟ้า-แหล่งปิโตรเลียม”
UAC ไตรมาส 1 รายได้โต 52% แย้ม Q2 เดินหน้าลงทุนโครงการ EV charging station เฟสแรก 4 สถานีตามแผน พร้อมเข้าสำรวจแหล่งปิโตรเลียม L10/43 และ L11/43 ตั้งเป้าผลิต 500 บาร์เรลต่อวัน
บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2565 ดังนี้
โดยนายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ UAC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2565 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565) ว่า ผลการดำเนินของบริษัทฯ ในไตมาสแรกมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 510.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 175.24 ล้านบาท หรือร้อยละ 52.33 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทฯ 71.88 ล้านบาท โดยมี Gross Margin ที่ระดับ 11.31% ส่งผลให้ EBITDA ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ระดับ 110.68 ล้านบาท ส่วนด้าน ROE นั้นอยู่ที่ 17.16%
ทั้งนี้สาเหตุรายได้รวมมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจเทรดดิ้ง ที่ได้รับ Big lot จำนวน 143.30 ล้านบาท จากกลุ่ม Industrial และกลุ่ม Energy ซึ่งมีการจำหน่ายจำหน่ายสารเคมี และอุปกรณ์อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเลียม กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 25.53 ล้านบาท รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากของรายได้กลุ่มเคมีภัณฑ์ จำนวน 27.68 ล้านบาท จากการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว
ขณะที่การผลิตของโรงงาน PPP และโรงไฟฟ้าเสาเถียร มีการผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากได้รับก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 MMSCFD ส่งผลให้มียอดขายทั้งในส่วนของก๊าซเชื้อเพลิง C1 ก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) มีการปรับตัวอย่างโดดเด่น จึงทำให้กลุ่ม UAC มีกำไรขั้นต้นรวม 57.68 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการเร่งขยายการตลาดในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ในปีนี้ แตะระดับ 2,000 ล้านบาท รวมถึงการรักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 420 ล้านบาท ของรายได้ยอดขายรวมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ จะเริ่มทยอยเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV charging station) ภายใต้การร่วมลงทุนกับ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ภายใต้ “พีพีดับบลิวอี” (PPWE) ตามแผนการลงทุนสร้างเฟสแรก จำนวน 4 สถานี หรือ 12 หัว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง จังหวัดนครราชสีมา 2 แห่ง และจังหวัดจันทบุรี 1 แห่ง
ส่วนโครงการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมหมายเลข L10/43 และ L11/43 ในพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัยและบูรพา จังหวัดสุโขทัย นั้น ยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่าจะมีการเข้าสำรวจปริมาณปิโตรเลียมสำรองในพื้นที่สัมปทานดังกล่าว เพื่อต้องการทราบปริมาณปิโตรเลียมที่ชัดเจนได้ในไตรมาส 2/2565 นี้ และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 3/2565 ซึ่งตั้งเป้าผลิต 500 บาร์เรลต่อวัน สร้างรายได้เพิ่ม 300 ล้านบาทต่อปี
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนภูผาม่าน ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีขนาดการผลิตไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์นั้น จะพร้อมจ่ายไฟเข้าระบบได้ภายใน 3 เดือนนับจากได้รับ PPA ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าแรกที่มีความพร้อมที่สุดในการดำเนินการเมื่อเทียบโครงการอื่นๆ ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2565