เปิดงบ 7 หุ้นเครือ “ปตท.” ไตรมาส 1 กวาดกำไร 5.3 หมื่นลบ. TOP ยืนหนึ่งโต 114%

เปิดงบ 7 หุ้นตระกูล “ปตท..” ไตรมาส 1 กวาดกำไร 5.3 หมื่นลบ. ฟาก TOP ยืนหนึ่งโต 114% โกยกำไร 7.18 พันลบ. โบรกเชียร์ "ซื้อ" เป้าใหม่ 76 บ. รับธุรกิจโรงกลั่นดีต่อเนื่อง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 ของบริษัทในเครือ “ปตท.” รวม 7 บริษัท ซึ่งได้รายงานตัวเลขกำไรออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ดังนี้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิจำนวน 25,571 ล้านบาท ลดลง 7,017 ล้านบาท หรือ 21.5% จากไตรมาส 1/64 ที่มีกำไรสุทธิ 32,588 ล้านบาท และลดลง 1,973 ล้านบาท หรือ 7.2%  จากไตรมาส 4/64 ที่มีกำไรสุทธิ 27,544 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากในไตรมาสนี้มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้นมาก โดยหลักจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ที่ราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครนที่หลายประเทศมีการประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมีภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการขายและกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) เพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมถึงปริมาณขายโดยรวมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ กำไรสุทธิเป็นผลการดำเนินงานรวมจากบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ โดยสัดส่วนกำไร 30% มาจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. และ 70% มาจากผลตอบแทนการลงทุนในบริษัทในกลุ่ม ปตท.

ด้าน นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าวว่า ในไตรมาส 1/64 ผลการดำเนินงานมีรายได้รวม 2,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 68,890 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 4/64 ซึ่งมีรายได้ 1,989 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 66,222  ล้านบาท) สาเหตุหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 427,368 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เทียบกับ 420,965 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณการผลิตและขายก๊าซขั้นต่ำของโครงการอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1 นี้ บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) โดยมีผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยจากผลประกอบการดังกล่าว ส่งผลให้ PTTEP มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ที่ 318 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 10,519 ล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในไตรมาส 4/64 ที่มีกำไรสุทธิที่ 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 10,646 ล้านบาท) สำหรับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) อยู่ที่ 26.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ 78% ซึ่งเป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้

ด้านนายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ PTTEP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 มีแนวโน้มเติบโตตามคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มมาที่ 4.67 แสนบาร์เรล/วัน (KBOED) จาก 4.27 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 1/65 และคาดว่าทั้งปีก็น่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยดังกล่าว

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติก็คาดว่าไตรมาส 2/65 จะอยู่ที่ 6.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 และทั้งปีมองไว้ที่ 6.4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยราคาก๊าซฯ น่าจะปรับตัวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 4/65 เนื่องจากเป็นช่วงปรับรอบสัญญาของโครงการสำคัญหลายโครงการ

ขณะที่บริษัทยังคงมองต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยจะอยู่ที่ 28-29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะอยู่ในช่วง 70-75% ตามเดิม

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า PTTGC รายงานกำไรไตรมาส 1/65 ที่ 4.2 พันล้านบาท ลดลง 57% จากปีก่อน, โต 30% จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย โดยไตรมาสนี้มีผลขาดทุน Hedging สูงถึง 8.5 พันล้านบาท และมี Stock gain จำนวน 5 พันล้านบาท ถ้าไม่นับรวมรายการดังกล่าวกำไรปกติอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท ลดลง 29% จากปีก่อน, +89% จากไตรมาสก่อน เป็นไตรมาสแรกที่รับรู้กำไรจาก allnex

พร้อมกันนี้ คาดแนวโน้มไตรมาส 2/65 กำไรปกติอาจจะยังทรงตัวไตรมาสก่อน โดยธุรกิจโรงกลั่นยังดีต่อเนื่องจาก GRM ที่ยังสูงกว่า USD15-20/bbl แต่บริษัทมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน Olefins และความผันผวนของราคาน้ำมันลดน้อยลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อ Stock gain/loss ไม่มาก ทั้งนี้ยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2565 ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท

โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” และราคาเป้าหมายที่ 66 บาท อิง Avg PBV ที่ 0.9 เท่าราคาหุ้นปรับลดลง -15% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าสะท้อนแนวโน้มผลประกอบการที่อ่อนตัวลงจากธุรกิจปิโตรเคมีไปบ้างแล้ว

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า TOP รายงานกำไรไตรมาส 1/65 แข็งแกร่งที่ 7.2 พันล้านบาท (+114% จากปีก่อน, +43% จากไตรมาสก่อน) โดยบริษัทรายงานกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (market GIM) ที่ USD7.7/bbl (+83% จากปีก่อน, +9% จากไตรมาสก่อน) โดยมีรายละเอียดที่รายหน่วย ธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจโรงกลั่น มี Market GRM สูงขึ้นเป็น USD6.4/bbl เทียบกับ USD0.7/bbl ในไตรมาส 1/64 และ USD5.4/bbl ในไตรมาส 4/64 สอดคล้องกับ crack spread ที่ดีขึ้น ขณะที่ Refinery throughput สูงขึ้นเป็น 109% จากเดิม 100% ในไตรมาส 1/64 และ 109% ในไตรมาส 4/64

นอกจากนี้บริษัทรับรู้ stock gain (net NRV) ที่ 11.9 พันล้านบาท (+149% จากปีก่อน, +261% จากไตรมาสก่อน) ตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีบริษัทมีรับรู้ผลขาดทุนจากมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน (hedging loss) ที่ประมาณ 7.4 พันล้านบาท ในไตรมาสนี้

ธุรกิจอะโรเมติกส์และสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (LAB) มีอัตราการใช้กำลังการผลิต (u-rate) ที่ 73% ลดลงจาก 80% ในไตรมาส 1/64 จากการควบคุมต้นทุน (cost optimization) จาก PX spread และ BZ spread ที่อ่อนตัวขณะที่อัตรา P2F margin อยู่ที่ USD27/ton (-75% จากปีก่อน, +42% จากไตรมาสก่อน) ส่วนโรงงาน LAB มี u-rate ที่แข็งแกร่งที่ 122% สูงขึ้นจาก 91% ในไตรมาส 1/64

ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น พื้นฐานมี u-rate ที่ 89% ทรงตัวจากไตรมาสก่อน และมีอัตรา P2F margin ที่ USD96/ton (-44% จากปีก่อน, -19% จากไตรมาสก่อน)

โดยเชื่อว่าธุรกิจโรงกลั่นจะยังดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/65 จากแนวโน้ม crack spread ที่สูง ซึ่งได้ประโยชน์จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ crack spread ของทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะ diesel และ jet fuel ที่สูงขึ้น 114% และ 128% ตามลำดับ

นอกจากนี้หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติ (เมื่อวันที่ 7 เม.ย.65) ให้ขายหุ้น GPSC จำนวน 304.1 ล้านหุ้นให้แก่บริษัท PTT และ/หรือบริษัท สยาม แมนเนจเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด ประเมินว่าบริษัทจะรู้ผลกำไรที่เป็นไปได้สูงกว่า 9.0 พันล้านบาทในไตรมาส 2/65

พร้อมกันนี้ปรับประมาณการกำไรปี 2565/66 ขึ้น 117%/43% เป็น 29.1/19.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12.6 พันล้านบาทในปี 2564 โดยปัจจัยผลักดันหลักๆ จาก 1) Market GRM ที่สูงขึ้นตาม crack spread ที่ดีขึ้นจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ฟื้นตัว 2) Refinery throughput ที่สูงขึ้น 3) stock gain ที่สูงขึ้นในปี 2565 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบขาขึ้น และ 4) การรับรู้กำไรจากการขายหุ้น GPSC

ทั้งนี้ ได้ราคาเป้าหมายปี 2565 ใหม่ที่ 76.00 บาท (เดิม 70.00 บาท) อิง PBV ปี 2565 ที่ 1.11 เท่า (เทียบเท่า -0.25SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PBV 5 ปี ย้อนหลัง) ทั้งนี้เชื่อว่า TOP จะเห็นการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางทั่วโลก

นอกจากนี้มองว่าผลกระทบจากการคว่ำบาตร (sanction) รัสเซียที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันทั่วโลกตึงตัวจะทำให้ crack spread สูงต่อเนื่องได้

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2565 มีรายได้ทั้งสิ้น 27,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 313 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 84% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ปรับตัวลดลง 855 ล้านบาท หรือลดลง 73%

โดยมีปัจจัยหลักมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ลดลงจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากสถานการณ์ความขัดแยงระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง แม้ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมคงที่ ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ที่สามารถทำรายได้และมาร์จินเพิ่มขึ้น จากการรับรู้รายได้ของค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ตามปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบที่เพิ่มขึ้น ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. และการจัดการการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้บันทึกรับรู้กำไรสุทธิหลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจำนวน 592 ล้านบาท จากการขายหุ้นทั้งหมดของบริษัท อิจิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์1 จีเค (ISP1) ให้กับบริษัท CES Iwate Taiyoko Hatsudensho GK แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการทำแผน Synergy ควบรวมกิจการ หลังหักภาษีรับรู้มูลค่าจำนวน 483 ล้านบาท เป็นผลจากการบริหารจัดการการผลิตร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนตั้งแต่ในด้านการใช้โครงข่ายไฟฟ้า-ไอน้ำ การบริหารส่วนการพาณิชย์ด้านต้นทุนการผลิต การขยายฐานลูกค้า การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการหุ้นกู้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในระดับสูงจากความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกที่สะท้อนต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) 2 ครั้ง จาก -15.32 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วยก็ตาม

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้บริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตหรือ Optimization เพื่อให้การเดินเครื่องมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความมั่นคงในระบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งมอบและไอน้ำให้กับลูกค้าทุกกลุ่มให้ได้ตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง

นายวรวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของโรงไฟฟ้าต่างๆ จะกลับเข้ามาสู่ระบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและภาคการผลิต ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 โดยยกเลิก Test & Go ปรับ Thailand pass ในการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งขณะนี้ความพร้อมของโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.65 โดยอยู่ระหว่างดำเนินการด้านประกันภัยที่ยังคงเหลือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้ทั้งหมดได้ในปี 65 ส่วนโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติแล้วเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยความร่วมมือในกลุ่ม ปตท. และนอกกลุ่ม ปตท. โดยเมื่อเร็วๆนี้ บมจ.โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ (GRSC) ที่ GPSC ถือหุ้น 100% ได้มีการชำระค่าหุ้นของ Avaada Energy Private Limited (AEPL) รวมเป็นจำนวนเงิน 1,875 ล้านรูปีอินเดีย หรือเทียบเท่า 841 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจาก 41.62 %เป็น 42.93 % ของทุนทั้งหมดของ AEPL เป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ เมื่อเดือน ก.พ.65 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติโอนสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจแบตเตอรี่ให้แก่ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ซึ่งเป็นการร่วมทุนที่ GPSC ถือหุ้น 49% และบริษัท อรุณพลัส จำกัด (ARUN PLUS) ถือหุ้น 51% โดย GPSC จะเข้าไปดำเนินการการพัฒนา การขาย และการลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ในอนาคตผ่าน NUOVO PLUS

ประกอบด้วย โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh ต่อปี ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และหุ้นสามัญ 100% ในบริษัท GPSC-SG Holding Company ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือหุ้น 11.1% ในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1 GWh ต่อปี รวมถึง สัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ EV ตามนโยบายภาครัฐและกระแสโลกสู่พลังงานสะอาด

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 76,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาขายเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1.5 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.58 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.27 บาท

โดยบริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,105 ล้านบาท หรือ 7.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 39% สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและปิโตรเคมี ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 9,891 ล้านบาท หรือ 17.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 42% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113%

สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2/65 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จากการคาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะยังคงยืดเยื้อและจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น

โดยแนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 2/65 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตสินค้าปลายทางเริ่มกลับมาสั่งซื้อเม็ดพลาสติกมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาวัตถุดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัสเซีย-ยูเครน

นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน OR เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 มีรายได้จากการขายและบริการ 177,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,452 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ขายของทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global เพิ่มขึ้น

สำหรับ EBITDA อยู่ที่ 6,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,049 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 46.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเพิ่มในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากทั้งธุรกิจตลาดพาณิชย์และธุรกิจขายปลีกน้ำมัน ในขณะที่กำไรขั้นต้นของการขายน้ำมันดีเซลผ่านสถานีบริการชะลอตัวจากการลดภาระภาคประชาชนในการชะลอการปรับราคาหน้าสถานีบริการ

โดยในไตรมาสนี้ OR มีกำไรสุทธิ จำนวน 3,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,491 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 63.3% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.32 บาท สูงกว่าไตรมาสก่อน 0.12 บาท หรือเพิ่มขึ้น 60.0%

อนึ่ง OR แจ้งผลประกอบการ ไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 3.85 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.32 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.38 บาท

Back to top button