FSMART ควักอีก 167 ลบ. ลงทุน “ฟอร์ท เวนดิ้ง” รับรู้กำไร “ตู้เต่าบิน” แตะ 27%
FSMART เพิ่มสัดส่วนลงทุนธุรกิจเต่าบินผ่าน “ฟอร์ท เวนดิ้ง” จากเดิม 19.34% เป็น 26.71% คิดเป็น 167 ลบ. รับรู้กำไรส่วนได้ส่วนเสียพ.ค.65 ช่วยผลักดันกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และการกระจายสินค้ามากขึ้น
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เปิดเผยว่า บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจตู้เต่าบินผ่าน บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด จากเดิม 19.34% เป็น 26.71% คิดเป็นเงินลงทุน 167 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะสามารถสะท้อนกำไรส่วนได้ส่วนเสียจากเต่าบินสู่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่ากระบวนการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
โดยคาเฟอัตโนมัติ “เต่าบิน” ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งด้านกระแสการตอบรับ และยอดขายเป็นอย่างมาก ด้วยการบริการเครื่องดื่มกว่า 170 เมนู ทั้งร้อน เย็น ปั่น ที่สำคัญยังพร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง รองรับด้วยระบบรับชำระทุกรูปแบบและศูนย์ดูแลบริการลูกค้าภายใต้ระบบจัดการของบุญเติม ซึ่งขณะนี้มีให้บริการแล้วกว่า 1,200 จุด พร้อมยอดขาย 1 แสนแก้วต่อวัน จากแผนธุรกิจที่จะกระจายเพิ่มให้ได้ 20,000 จุดทั่วประเทศใน 3 ปี และจะสร้างยอดขาย 50 แก้วต่อตู้ต่อวัน หรือ 1 ล้านแก้วต่อวัน
“สำหรับการตอบรับของ คาเฟอัตโนมัติ “เต่าบิน” ที่ดีอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นจะช่วยผลักดันให้กลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และการกระจายสินค้าของบริษัทเติบโตขึ้น เพิ่มเติมจากกลุ่มธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติ และกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ซึ่งจะสนับสนุนให้ผลประกอบการโดยรวมเพิ่มขึ้น” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตโดยรวมปีนี้ไว้ที่ 10-15% ด้วยการบริหาร 3 แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านตู้บุญเติม เคาน์เตอร์แคชเชียร์ และแอปพลิเคชันบนมือถือ ในการขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมกว่า 16 ล้านราย และกลุ่มลูกค้าองค์กร
โดยกลุ่มธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติ ยังคงมีผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ได้ขยายฐานลูกค้าใหม่ด้วยบริการแอปพลิเคชันบนมือถือสำหรับลูกค้าองค์กร ให้สามารถใช้บริการธุรกรรมทางการเงินแบบครบวงจร และซื้อสินค้า รวมถึงบริการต่าง ๆ จากคู่ค้าของบริษัท โดยช่องทางออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญที่จะผลักดันบริการให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และยังสามารถนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ รวมถึงการโฆษณาผ่านช่องทางนี้ได้ในอนาคตอีกด้วย
ขณะที่กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ส่วนบริษัทยังคงมุ่งผลักดันตู้บุญเติมเป็นให้เป็นธนาคารชุมชนครบวงจรและผู้ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรทั้งบริการฝาก โอน ถอนเงินสด และให้บริการ e-KYC ผ่านตู้บุญเติม เคาน์เตอร์แคซเชียร์และแอปพลิเคชัน
ทั้งนี้ บริษัทยังเดินหน้าเพิ่มการเป็นตัวแทนธนาคารและกลุ่ม non-bank อย่างน้อย 2 ราย และขยายตู้บุญเติม Mini ATM ให้ได้ 10,000 จุดทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี รวมถึงเร่งพัฒนาบริการให้รองรับได้ทั้งในประเทศและโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่และขยายขอบเขตบริการ ผลักดันให้จำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้น 15-20% ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับบริการด้านสินเชื่อในวงเงิน 1,000 ล้านบาท ที่จะเป็นหนึ่งใน New S-curve ของบริษัทนั้น ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้ามากกว่า 16 ล้านรายและลูกค้าองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มมือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า ผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่สะดวกต่อการเข้าถึงของทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งบริษัทได้เตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านสินเชื่อที่พร้อมนำเสนอให้กับลูกค้าในทุกช่องทางเพื่อขยายฐานรายได้ของบริษัทให้มากขึ้นด้วย
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 1/2565 บริษัทมีรายได้รวม 589.23 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 80.94 ล้านบาท โดยไตรมาสนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งไม่มีมาตรการรัฐช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อของผู้ใช้บริการชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรักษาฐานลูกค้าให้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนรายการบริการฝากและโอนเงินในไตรมาสนี้ที่มีมากกว่า 1.6 ล้านครั้งต่อเดือน และบริการเติมเงิน E-Wallet ผ่านตู้บุญเติมมากกว่า 1,817 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้บริการผ่านช่องทางบุญเติมอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อไป