“ดาวโจนส์ฟิวเจอร์” ดีดกว่า 300 จุด หลังร่วง 6 วันติด ส่งสัญญาณ “วอลล์สตรีท” ฟื้นตัว
ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์เด้งกลับกว่า 300 จุดในวันนี้ หลังร่วงลงติดต่อกัน 6 วัน บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะฟื้นตัวขึ้นในคืนนี้จากแรงซื้อเก็งกำไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ ณ เวลา 19.28 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 325 จุด หรือ 1.03% สู่ระดับ 31,977 จุด หลังปิดตลาดวานนี้ร่วงลงกว่า 100 จุด ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดอาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แม้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นในวันนี้ แต่คาดว่า 3 ดัชนีหลักในตลาดจะดิ่งลงในสัปดาห์นี้ โดยขณะนี้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 3.55% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ส่วนดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ทรุดตัวลง 4.7% และ 6.4% ตามลำดับ
วุฒิสภาสหรัฐมีมติเห็นชอบอย่างท่วมท้นในการลงมติวานนี้ให้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2
ทั้งนี้วุฒิสภาลงมติด้วยคะแนนเสียง 80-19 เสียง เห็นพ้องให้นายพาวเวลรับตำแหน่งประธานเฟดต่อไปอีก 4 ปี หลังจากที่เขาครบวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา คะแนนเสียงที่นายพาวเวลได้รับจากวุฒิสภาในครั้งนี้ ใกล้เคียงกับเมื่อ 4 ปีก่อนที่เขาได้รับเสียงสนับสนุน 84-13 เสียง
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลมีภารกิจที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้าในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐประสบภาวะถดถอย หลังจากหดตัวลง 1.4% ในไตรมาส 1/65
นายพาวเวลยอมรับว่าเขาไม่สามารถให้การรับประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ soft landing ขณะที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี
ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า เฟดสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงโดยไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นางเยลเลนกล่าวว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้สหรัฐไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ตลาดแรงงานและภาคธนาคารที่แข็งแกร่ง, สถานะการเงินของภาคครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
“ปัจจัยต่างๆเหล่านี้บ่งชี้ว่าเฟดมีแนวทางที่จะทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย และดิฉันรู้ว่าเฟดพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว” นางเยลเลนกล่าว
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน