“หมอยง” แจง “ฝีดาษลิง” ไม่น่ากลัว-แนะป้องกันเหมือนโควิด-19

จากกรณีที่หลายประเทศในทวีปยุโรป ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ “โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox) จำนวนหลายสิบราย จนกำลังสร้างความตื่นหนักให้กับพลเมืองหลายประเทศ และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และสอบสวนโรค เพื่อหาสาเหตุการแพร่ระบาดที่แท้จริง


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “โรคฝีดาษลิง” ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เพราะมีมานานกว่า 10 ปี โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา และมีความแตกต่างจากเชื้อผีดาษในคน ที่พบว่าสามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ และสารคัดหลั่งจากการไอ จาม

แต่สำหรับฝีดาษในลิงนี้จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสบาดแผล หรือฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งโรคนี้พบในลิงแอฟริกา แต่มีพาหะคือหนู หรือ สัตว์ฟันแทะ ตระกูลหนู กระรอก ทั้งนี้ การที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ ก็มาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือมีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน

ศ.นพ.ยง ยังให้ข้อมูลว่า การติดต่อของฝีดาษลิง ถือว่าติดต่อได้ยากเมื่อเทียบกับฝีดาษคน เพราะต้องสัมผัสกับ บาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีตุ่มแดงขึ้น จากนั้นพัฒนากลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออก ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ส่วนระยะเวลาการฟักเชื้ออยู่ประมาณ 5-14 วัน แต่บางคนก็มีอาการรุนแรงก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ ประมาณ 10% ดังนั้น โรคนี้แก้ได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไอ จาม ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย

สำหรับ “โรคฝีดาษลิง” นี้มีวัคซีน และสามารถใช้วัคซีนฝีดาษในคนป้องกันได้ แม้จะให้ผล 85% ก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่ต้องเร่งขจัดโรคฝีดาษลิงไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ เนื่องจากการพบฝีดาษลิงในคน เท่ากับการทำให้ไวรัสมีการพัฒนา ข้ามสายพันธุ์ หากมากขึ้นก็อาจกลายพันธุ์ได้ ฉะนั้นทำให้นานาประเทศต้องเร่งขจัด

ศ.นพ.ยง ย้ำว่า สำหรับประเทศไทย ยังไม่ต้องแตกตื่นและกังวลกับโรคนี้ ยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ก็ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา และหากคนไทยผ่านโควิด-19 มาได้ การป้องกันตัวสำหรับโรคนี้ก็ไม่แตกต่างกัน สุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญ และอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ ส่วนฝีดาษในคน ประเทศไทยได้ขจัดโรคนี้จากการปลูกฝี และหมดไปในปี 2517 ฉะนั้นเด็กที่เกิดหลังปี 2517 ก็จะไม่พบโรคนี้อีก

Back to top button