สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 20 พ.ค. 2565
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 20 พ.ค. 2565
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 พ.ค.) หลังจากที่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังคงปรับตัวลงในรายสัปดาห์เป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2475 ซึ่งเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลบเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดภาวะฟองสบู่ดอทคอมในปี 2544
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,261.90 จุด เพิ่มขึ้น 8.77 จุด หรือ +0.03%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.36 จุด เพิ่มขึ้น 0.57 จุด หรือ +0.01% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,354.62 จุด ลดลง 33.88 จุด หรือ -0.30%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (20 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มปลอดภัยที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนมีความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของยุโรป หลังธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (LPR) อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปยังคงปิดในแดนลบในรอบสัปดาห์นี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 431.10 จุด เพิ่มขึ้น 3.11 จุด หรือ +0.73% แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีลดลง 0.5%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,285.24 จุด เพิ่มขึ้น 12.53 จุด หรือ +0.20%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,981.91 จุด เพิ่มขึ้น 99.61 จุด หรือ +0.72% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,389.98 จุด เพิ่มขึ้น 87.24 จุด หรือ +1.19%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (20 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของอังกฤษที่พุ่งขึ้นนั้นได้ช่วยหนุนตลาดด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,389.98 จุด เพิ่มขึ้น 87.24 จุด หรือ +1.19%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (20 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.02 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 113.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 112.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกขึ้นต่อในวันศุกร์ (20 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอ่อนแอท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.9 ดอลลาร์ หรือ 0.05% ปิดที่ 1,842.1 ดอลลาร์/ออนซ์ และปิดตลาดในรอบสัปดาห์นี้ เพิ่มขึ้น 1.8% หลังจากร่วงลง 4 สัปดาห์ติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2561
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 23.4 เซนต์ หรือ 1.07% ปิดที่ 21.674 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 12.6 ดอลลาร์ หรือ 1.32% ปิดที่ 941.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 38.70 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 1939.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (20 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ 103.1490
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 127.80 เยน จากระดับ 127.74 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9758 ฟรังก์ จากระดับ 0.9705 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2847 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2800 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0550 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0603 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2471 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2501 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7020 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7063 ดอลลาร์สหรัฐ