ศาลล้มละลายฯ นัด “สินมั่นคง” ไต่สวนขอฟื้นฟูกิจการ 18 ส.ค.นี้
โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ศาลล้มละลายกลาง นัด “สินมั่นคง” ไต่สวน 18 สิงหาคมนี้ หลังบริษัทประสบปัญหาทางการเงินจากวิกฤตประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ยอดเคลมทะลัก 4.1 หมื่นล้านบาทจนหนี้สินล้นพ้นตัว
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ตามพ.ร.บ.ล้มละลายปี พ.ศ.2483 โดยเสนอให้บริษัทสินมั่นคงเป็นผู้บริหารแผนเองว่า ล่าสุดศาลล้มละลายกลาง ได้ส่งหมายไปยังเจ้าหนี้ต่างๆของบริษัทสินมั่นคงแล้ว ซึ่งมีเจ้าหนี้หลายประเภท ตั้งแต่ธนาคาร ไปจนถึงเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยที่แจ้งเคลมหรือใช้สิทธิเรียกร้องแล้วรวมกว่าสามแสนราย จากกรมธรรม์ทั้งหมด 2 ล้านกรมธรรม์
โดยศาลจะนัดไต่สวน ผู้ร้อง ผู้คัดค้านในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะมีบรรดาเจ้าหนี้หรือผู้แทนเข้ามาคัดค้านหรือไม่ ก็ต้องรอดูในส่วนของลูกค้า ที่เป็นผู้เอาประกันที่มีการแจ้งเคลมแล้ว เพราะถือเป็นเจ้าหนี้ด้วยกลุ่มหนึ่ง หากจะเข้ามาในคดีเองทั้งหมดกว่าสามแสนกว่าคน อาจจะทำได้ยาก แต่อาจรวมตัวกันตั้งตัวแทนเข้ามาดูแลส่วนได้เสียของตนในคดีซึ่งจะเป็นการดีกว่า ทั้งนี้ในการแจ้งของศาลจะมีการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และประกาศทางหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย
สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า จะคล้ายๆกับการบินไทย ที่ฟื้นฟูกิจการจะมีลูกค้าที่บินกับการบินไทยแล้วสะสมไมล์ ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือซื้อตั๋วแล้วแต่มีเลื่อนการเดินทาง ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ทั้งสิ้น และมีจำนวนมาก ก็มีการแบ่งเป็นกลุ่มๆ และตั้งผู้แทนรับมอบอำนาจเข้ามาในคดี เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูและตั้งผู้ทำแผนฯแล้ว ก็จะเป็นงานของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้การฟื้นฟูกิจการ จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพราะจะทำให้กิจการดำเนินต่อไปได้ ซึ่งอาจทำให้บริษัทที่ฟื้นฟูมีมูลค่ามากกว่าการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกัน แต่หากกิจการไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากนัก เจ้าหนี้แต่ละรายอาจจะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าที่จะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ SMK ได้ชี้แจงเหตุผลที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย เพื่อให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง และปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน ซึ่งความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย
นอกจากนี้ SMK ระบุว่าที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหมโควิด-19 ที่มีจำนวนมาก โดยการสรรหานักลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหมโควิด ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัท เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่สินไหมโควิดที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน