TPIPP เล็งชิงเค้ก “โรงไฟฟ้าขยะ-วินฟาร์ม” หวัง 340 MW-รัฐปรับขึ้นค่า FT หนุนกำไรปีนี้

TPIPP จ่อชิงเค้ก “โรงไฟฟ้าขยะ” หวัง 40 เมกะวัตต์ ฟาก “วินฟาร์ม” หวัง 300 MW ส่งวิกภาครัฐมีการปรับค่าไฟฟ้า (FT) ในเดือนม.ค.-เม.ย. ขึ้น 20 สตางค์ต่อหน่วย และเดือนพ.ค.-ก.ย. ขึ้นอีก 20 สตางค์ รวมทั้งสิ้น 40 สตางค์แล้วส่งผลดีต่อบริษัทสามารถรับรู้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 599 ล้านบาท


นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะตามแผน PDP กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ โดยคาดหวัง 40 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ตามแผน PDP กำลังการผลิต 1,500 เมกะวัตต์ คาดหวังได้รับราว 300 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้ามีกำลังการผลิตจาก Independent Power Supply (IPS) และ SPP-VSPP ปีนี้ 440 เมกะวัตต์ โดยคาดจะเพิ่มขึ้นแตะ 1,606 เมกะวัตต์ในปี 2569

สำหรับผลประกอบการในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะเติบโตดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 11,358.26 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,191.33 ล้านบาท โดยไตรมาส 1/2565 ทำรายได้แล้ว 2,894.62 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 854.58 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ เนื่องด้วยภาครัฐมีการปรับค่าไฟฟ้า (FT) ในเดือนม.ค.-เม.ย. ขึ้น 20 สตางค์ต่อหน่วย และเดือนพ.ค.-ก.ย. ขึ้นอีก 20 สตางค์ รวมทั้งสิ้น 40 สตางค์แล้ว ส่วนเดือนก.ย.-ธ.ค.จะมีการปรับขึ้นอีกหรือไม่คงก็ต้องรอประกาศจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่า FT ที่ผ่านมาส่งผลดีต่อบริษัทสามารถรับรู้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 599 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีรายได้จากการขาย RDF ให้กับบริษัทแม่ คือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ราว 34.6 ล้านบาท และการทำ Coal Replacement รวมถึงการขายไฟฟ้าเฉพาะกิจ หรือการรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปถัวเฉลี่ยกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ซึ่งน่าจะสามารถชดเชยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าที่ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ADDER) จะหมดอายุในปีนี้ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ TG3 ขนาด 18 เมกะวัตต์ หมดอายุไปแล้วในเดือนม.ค.65, TG5 ขนาด 55 เมกะวัตต์ จะหมดอายุในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่หายไปราว 1,000 ล้านบาท

พร้อมด้วยบริษัทได้ดำเนินการทำ Plant Operation Improvement 2021-2023 ประกอบด้วย 1.RDF Cost Reduction หรือการลดค่าใช้จ่าย RDF ซึ่งมีด้วยกัน 2 ส่วนคือ วัตถุดิบและค่า Operation โดยอยู่ระหว่าการก่อสร้างและขยายกำลังการผลิต RDF คาดว่าภายหลังจากดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถลดการซื้อ RDF จากภายนอก และทำให้ต้นทุนเฉลี่ย RDF ลดลง อีกทั้งยังสามารถใช้ RDF ที่คุณภาพต่ำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต คาดว่าจะลดต้นทุนดังกล่าวได้อีก 10-15% จากปัจจุบันมีต้นทุน RDF อยู่ที่ 750 บาท/ตัน

2.Improvement Plant Availability การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงาน 3. Improvement of Power Plant Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และ 4. Coal Replacement การลดต้นทุนถ่านหิน โดยจะลดการใช้ถ่านหินลงผ่านการนำ RDF มาทดแทนการใช้ถ่านหิน

Back to top button