“ทริส” อัพเรทติ้ง STGT สู่ A แนวโน้ม “Stable” สะท้อนการเงินแกร่ง
“ทริสเรทติ้ง” เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร STGT เป็นระดับ A จากเดิม A- แนวโน้ม "Stable" สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เป็นระดับ “A” จากระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นไปตามการเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ได้รับการจัดอันดับเครดิต “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” จากทริสเรทติ้ง ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของบริษัทดังกล่าว
โดย ทริสเรทติ้งยังคงประเมินอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile) ของบริษัทให้อยู่ที่ระดับ “A” ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทในปี 2564 โดยสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตเฉพาะดังกล่าวยังสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตถุงมือยางของโลกซึ่งมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรขึ้นลงและผันผวนของราคาต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความแปรปรวน และการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม
สำหรับประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA ซึ่งหมายความว่าอันดับเครดิตของบริษัทนั้นอยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ สถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งสองในฐานะบริษัทแม่และบริษัทลูก
โดย STA ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 56.1% นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังมีอิทธิพลครอบงำกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ความสำคัญของบริษัทที่มีต่อบริษัทแม่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนถึง 84% ของกำไรก่อนภาษีของบริษัทแม่ในปี 2564 อีกด้วยเช่นกัน
สำหรับการพิจารณาสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักนั้นยังมองไปถึงบูรณาการทางธุรกิจระหว่างบริษัท และบริษัทแม่ที่อยู่ในระดับสูงด้วย ทั้งนี้ STA มีสัญญาในการจัดหาน้ำยางข้นธรรมชาติให้แก่บริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความมั่นคงในการจัดหาแหล่งน้ำยางข้นธรรมชาติ
นอกจากนี้ STA ยังจัดหาไม้สับเพื่อสนับสนุนการผลิตถุงมือยางและการดำเนินงานของบริษัท ในขณะเดียวกัน บริษัททั้งสองก็มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในหลายๆ ด้านซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง อีกทั้งบริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทแม่ในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยางแบบใหม่ที่มีนวัตกรรมอีกด้วย
ส่วนอุปสงค์ที่แน่นอนในธุรกิจถุงมือยาง ถึงแม้มีความกังวลเกี่ยวกับราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงมา โดยล่าสุดหลังจากที่บริษัทประสบกับความสำเร็จด้านยอดการผลิต แต่ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) ก็คาดว่าอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกจะยังคงมีความแน่นอนในช่วงปี 2565-2566 ทั้งนี้ การใช้ถุงมือที่เพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนและอุตสาหกรรมได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบใหม่ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังคงมีความสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรคโควิด-19 ยังคงขับเคลื่อนอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แต่การขาดแคลนเรือคอนเทนเนอร์ทั่วโลกส่งผลทำให้ยอดขายถุงมือยางของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.73 หมื่นล้านชิ้นในปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตถุงมือที่ทำจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ให้ได้จำนวน 4.8 หมื่นล้านชิ้นในปี 2565 และ 7.1 หมื่นล้านชิ้นในปี 2566 จากจำนวน 4 หมื่นล้านชิ้นในปี 2564 โดยที่สายการผลิตของบริษัทมีความยืดหยุ่นในการสับเปลี่ยนการผลิตระหว่างถุงมือยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ดังนั้น จึงคาดว่าสัดส่วนรายได้จากถุงมือยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 73-80% และ 20-27% ในช่วงปี 2565-2567
โดยเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย ทำเลยุทธศาสตร์คืออุปสรรคสำคัญสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดถุงมือยาง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซียและไทยนั้นเป็นศูนย์กลางสำคัญของการผลิตถุงมือยางของโลกซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 75% มีบริษัทน้อยรายที่จะสามารถผลิตถุงมือยางที่ได้คุณภาพในทางการแพทย์เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงมาก
รวมทั้งธุรกิจดังกล่าวยังต้องมีใบอนุญาตและได้รับใบรับรองตามมาตรฐานสากลที่มีอย่างหลากหลายเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจประเภทนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการถุงมือยางทุกรายที่ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมต่างก็กำลังขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่กำลังเติบโตทั่วโลกและเพื่อรักษาสถานะทางการตลาดของตนเอง
สำหรับผลการดำเนินงานทางการเงินเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในปี 2564 ยังคงเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมเติบโตที่ระดับ 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 4.79 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 4.51 หมื่นล้านบาท รายได้ที่เติบโตดังกล่าวมาจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในธุรกิจถุงมือยางที่มีอย่างต่อเนื่อง
โดยสัดส่วนรายได้จากถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ในปี 2564 ยังคงสม่ำเสมอโดยอยู่ที่ระดับ 58% และ 42% ตามลำดับ อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57% ในปี 2564 จาก 55% ในปี 2563 ซึ่งดีกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 46% สาเหตุที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นนั้นมาจากราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทุกประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้นและจากการประหยัดต่อขนาดในการผลิต
นอกจากนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2564 ยังเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.73 หมื่นล้านบาทจาก 1.72 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และสูงกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่ระดับ 2.12 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลทำให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 2.37 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่จำนวน 1.44 หมื่นล้านบาทในปี 2563
ส่วนรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 หดตัวลง 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลของราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่ปรับตัวลดลงในขณะที่ยอดขายยังคงเพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงถึง 86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 1.6 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 อนึ่ง บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ที่ระดับ 1.1 พันล้านบาทจาก 1.01 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อไปแม้จะมีความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมถุงมือยางในอนาคตก็ตาม ทั้งนี้ บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงและผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เช่น ถุงมือผ่าตัดและถุงมือยางที่ป้องกันการแพ้โปรตีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2565 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและจะเติบโตที่ระดับ 8%-22% ในระหว่างปี 2566-2567 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของถุงมือยางในปี 2565 จะปรับตัวลดลง 55% เมื่อเทียบกับปีก่อนและหลังจากนั้นจะคงที่ในระหว่างปี 2566-2567 ซึ่งราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงนั้นเกิดจากการขยายกำลังการผลิตจากผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ในอุตสาหกรรมถุงมือยางเป็นหลัก ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20%-23% ในระหว่างปี 2565-2567
สำหรับโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนรวมของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2564 ลดลงมาอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมากเนื่องจากบริษัทยังคงมีเงินสดคงเหลือซึ่งเป็นรายได้รับสุทธิจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทจะนำรายได้จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในระหว่างปี 2563-2569 ต่อไป ส่วนรายได้ที่เหลือจำนวน 2.3 พันล้านบาทนั้นบริษัทจะนำไปใช้ชำระหนี้เงินกู้และอีก 1.2 พันล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง
ส่วนในอนาคตคาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 4.0-10.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำในระยะ 3 ปีข้างหน้า
โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.3-1.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาทและมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกมากกว่า 2 พันล้านบาท
ด้านสมมติฐานกรณีพื้นฐาน มีดังนี้
1.รายได้รวมของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42% ในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 8%-22% ในปี 2566-2567
2.อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 20%-23% ในปี 2565-2567
3.ค่าใช้จ่ายดำเนินงานโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 4.0 พันล้านบาทถึง 1.03 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567
อย่างไรก็ดี แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ STA ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมถุงมือยางเอาไว้ได้โดยที่บริษัทจะสามารถบริหารความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างระมัดระวัง อีกทั้งจะยังคงรักษาสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ได้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA จะยังคงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับอันดับเครดิตของ STA อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพในการสร้างกระแสเงินสดและความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงรักษางบดุลให้แข็งแรงต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง