“สาธิต” ขออย่าตื่นตระหนก “ฝีดาษลิง” รัฐมีแผนรับมือระบาดของโรค
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข วอนประชาชนอย่าตระหนก "โรคฝีดาษลิง" ยัน คัดกรองเข้มข้นคนจาก 17 ประเทศ ขณะเดียวกันเตรียมประชุม สสจ. ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และเฝ้าสังเกตอาการของโรค
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยการติดตามสถานการณ์การระบาดของ “โรคฝีดาษลิง” ที่กำลังระบาดในต่างประเทศ ว่า ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่ตื่นตระหนก ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะกรรมการพนักงานปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับ“โรคฝีดาษลิง” ซึ่งเป็นระดับกรมที่มี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นประธาน และมีรองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นที่ปรึกษา รวมถึงมีหน่วยคัดกรอง ฝ่ายติดตาม และฝ่ายกำหนดแผน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะพยายามติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ และพยายามคัดกรองบุคคลที่มาจากประเทศเสี่ยง 17 ประเทศ ซึ่งแต่ละสนามบินมีด่านคัดกรองของกรมควบคุมโรคที่กำลังทำหน้าที่ตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข จะมีประชุมแจ้งเตือนและกำชับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ไปทำความเข้าใจและติดตามข้อมูลจากคลินิกโรคผิวหนัง และคลินิกกามโรคภายในประเทศว่าพบโรคนี้เข้ามาบ้างแล้วหรือไม่ นอกจากนี้อาจต้องมีการ พิจารณาว่าควรปรับนิยามของโรคนี้ให้ไปอยู่ในนิยามของคำว่าโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่
นายสาธิต ยืนยันว่า สถานการณ์ในประเทศขนาดนี้ยังไม่มีอะไรที่น่าตื่นตกใจ และยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าวภายในประเทศไทย แต่ขอให้ติดตามข้อมูลคำชี้แจงของกรมควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนการฉีดวัคซีนของประชาชนที่เกี่ยวกับโรคฝีดาษนั้น ที่จริงเป็นการปลูกฝีที่มีขึ้นในช่วงปี 2523 ซึ่งผู้ที่เกิดจากหลังจากปีดังกล่าวจะไม่ได้รับการปลูกฝีประเภทนี้ โดยการปลูกฝีไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่ช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้ 80 เปอร์เซ็นต์
ส่วนประชาชนจะสามารถสังเกตอาการตัวเองได้อย่างไร นายสาธิต ระบุว่า ตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ ระบุให้สังเกตว่ามี อาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีตุ่มฝีภายใน 1 สัปดาห์หรือไม่ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้แยกแยะจากอาการของโรคอื่นได้ยาก จึงอาจทำให้ต้องคอยฟังคำเตือนจากกรมควบคุมโรคและคณะกรรมการพนักงานปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินฯด้วย
เมื่อถามว่าจำเป็นจะต้องรื้อฟื้นการปลูกฝีดาษขึ้นมาหรือไม่ นายสาธิต เห็นว่า ต้องติดตามแผนงานว่าในการระบาดของ “โรคฝีดาษลิง” ในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการผลิตวัคซีนตอนนี้มีหลายบริษัทที่ผลิต ขณะเดียวกันต้องดูว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ในการลงทุนเรื่องการปลูกฝีให้กับผู้ที่เกิดหลังปี 2523 เมื่อเทียบกับสถิติการระบาด ทั้งนี้ การระบาดของโรคดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย เหมือนกับโรคโควิด-19 ถึงยังจำเป็นที่ต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าว