BRR ส่งซิก Q2 สดใส รับดีมานด์ “น้ำตาล” เพิ่ม! ย้ำเป้ารายได้ปีนี้โต 50%
BRR ส่งซิกไตรมาส 2/65 โตต่อเนื่อง รับดีมานด์น้ำตาลเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยขยายตัวมากขึ้นย้ำเป้ารายได้ปีนี้โต 50%
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทงวดไตรมาส 1/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 425.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 239.25 ล้านบาท หรือ 128.73% จากงวดเดียวกันของปีไตรมาส 1/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 185.85 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า
ทั้งนี้มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 2,212.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,237.14 ล้านบาท หรือ 126.88% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 975.07 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการปรับแผนส่งมอบน้ำตาลในช่วงปี 2564 มาส่งมอบในปี 2565 ทำให้ปริมาณการขายน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 69,084 ตัน หรือเพิ่มขึ้นในอัตรา 244% รวมถึงราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เมื่อเทียบกับปี 2564 เฉลี่ย 10% ต่อตันน้ำตาล
สำหรับศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ BRR ในปี 2565 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน เหตุจากทุกธุรกิจในเครือเติบโต หนุนรายได้เติบโตแข็งแกร่ง และมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve ที่เน้นความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย อีกทั้งธุรกิจหลักมีแนวโน้มขาขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกขยายตัว ประกอบกับปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยขยายตัวมากขึ้น
“สำหรับกลยุทธ์การเติบโตของ BRR เรามีแผนมุ่งสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง และเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจน้ำตาลเพียงอย่างเดียว บริษัทจึงได้ลงทุนธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) และได้หาพันธมิตรที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood pellet) เป็นการบริหารความเสี่ยงและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย”นายอนันต์ กล่าว
โดยกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) คาดว่าในปี 2565 จะกลับมามีกำไรจากการเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตสอดคล้องกับคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศซึ่งเป็นสัญญาจองซื้อระยะยาวเฟสแรกรวมจำนวนกว่า 15 ล้านชิ้นต่อเดือน และในประเทศประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเตรียมขยายเฟส 2 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยจะใช้วัตถุดิบเยื่อชานอ้อย (เยื่อสีน้ำตาล) ซึ่งเป็นโนว์ฮาวเฉพาะของบริษัท ได้ตั้งงบลงทุนไว้ราว 100 ล้านบาท สำหรับลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มอีก 7 เครื่อง
“ทั้งนี้ ทิศทางของธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยในปีนี้ แนวโน้มกลับมาเติบโตโดดเด่นซึ่งอยู่ในเทรนด์ของโลก สามารถกลับมาทำกำไรได้เนื่องจากมีออเดอร์ลูกค้าจากต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเป็นสัญญาระยะยาวแล้วกว่า 90%” นายอนันต์ กล่าว
นอกจากนี้ BRR ยังลุยเสริมทัพด้วยธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood pellet) โดยได้จัดตั้ง บริษัท บีอาร์อาร์ กรีน โฮลดิ้ง จำกัด (BGH) ตอกย้ำการแตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Wood pellet ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนความคืบหน้าโครงการ Wood pellet ในสปป.ลาว อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างโรงงาน คาดจะเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2565 และจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนภายในไตรมาส 2/2566 มีขนาดกำลังผลิต 100,000 ตันต่อปี โดยบริษัท Kyuden Mirai Energy (KME) ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมลงทุนและเป็นผู้ร่วมสนับสนุนให้เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ ได้ทำสัญญาซื้อระยาว 15 ปีแล้ว
สำหรับแนวโน้มผลงานไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสแรก รับปัจจัยเชิงบวกด้วยราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นระยะๆ บวกกับสภาพอากาศในบราซิลซึ่งส่งผลให้ผลผลิตอ้อยในพื้นที่เพาะปลูกลดลง อีกทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดวิกฤติการขาดแคลนอาหารทั่วโลก ส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด รวมถึงน้ำตาล ถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าปริมาณน้ำตาลส่งออกจากอินเดีย เพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 2.00-2.50 ล้านตัน ส่งผลให้ตลาดน้ำตาลลดแรงกดดันเรื่องการขาดดุลน้ำตาลในปีนี้ลงบ้าง
“อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดน้ำตาลยังเป็นไปในเชิงบวก โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายดิบในระยะเวลา 2 – 3 เดือนนี้จะอยู่ในช่วงราคา 18.50-20.50 เซนต์/ปอนด์ เนื่องด้วยปัจจัยที่มาสนับสนุนราคาตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจส่งออกน้ำตาลของไทยในปี 2565 โดยผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 ของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์อยู่ที่ 2.37 ล้านตัน สูงกว่าฤดูการผลิตที่แล้วประมาณ 32% ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาล และภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัท” นายอนันต์ กล่าว