RATCH แจงตลาด ปฏิเสธซื้อ BH ต่อจาก “สาธิต”
RATCH ชี้แจงต่อ "ตลท." ปฏิเสธข่าวเข้าซื้อ BH ต่อจากกลุ่ม “เกียรตินาคินภัทร” สัดส่วน 9.04% โดยระบุว่ายังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ชี้แจงหลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหนังสือขอความร่วมมือให้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นข่าวการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ จํากัด (มหาชน) หรือ BH ที่ปรากฏในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นฉบับวันอังคารที่ 24 พฤษภคม 2565 นั้น
โดย RATCH ระบุว่า บริษัทฯไม่มีการดำเนินการตามที่ปรากฎในข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด
อนึ่ง ประเด็น บริษัท โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ จํากัด (มหาชน) หรือ BH รายงานการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ภายหลังดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC มีการรายงานการจําหน่ายหุ้น BH จำนวน 71,947,100 หุ้น หรือ 9.04% ของหุ้นทั้งหมดให้บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน) และมีผลวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยแหล่งข่าวจากวงการวาณิชธนกิจ เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นธุรกรรมดังกล่าวอาจถือเป็นการขายฝากหุ้น BH ไว้กับกลุ่มเกียรตินาคินภัทร เป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรอกลุ่มทุนใหม่มาซื้อต่ออีกทอดหนึ่ง โดยหนึ่งในกลุ่มที่สนใจซื้อหุ้น BH สัดส่วน 9.04% ดังกล่าว คือบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCHที่ต้องการขยายการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเฮลท์แคร์มากขึ้น แต่เนื่องจาก RATCH อยู่ระหว่างการเพิ่มทุน 25,000 ล้านบาท ดังนั้นหาก RATCH ซื้อหุ้น BH เกิดขึ้นจริง การทำธุรกรรมซื้อหุ้น BH จากกลุ่มเกียรตินาคินภัทรจะต้องรอให้กระบวนการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นลงก่อน
“โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ RATCH จะเข้าซื้อหุ้น BH ต่อจากกลุ่มเกียรตินาคินภัทร เพราะธุรกรรมการขายฝากหุ้น BH ดังกล่าว อาจจะมีข้อตกลงเบื้องต้นระหว่าง ดร.สาธิต วิทยากร กับกลุ่ม RATCHไว้ก่อนแล้ว เพราะที่ผ่านมา RATCH และกลุ่มวิทยากร มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกันเป็นอย่างดี เห็นได้จาก RATCH ถือหุ้นใน PRINC (ของกลุ่มวิทยากร) ในสัดส่วนอยู่ที่ 10% เพียงแต่ว่า RATCH มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนให้เสร็จสิ้นลงก่อน เพราะเม็ดเงินที่ใช้ซื้อหุ้นส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าว” แหล่งข่าว กล่าว
ส่วนกรณีสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCHเปิดเผยผ่านรายการ“ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ว่า ปัจจุบัน RATCH มีธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าและกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟฟ้า (นอนเพาเวอร์) โดยส่วนนี้แบ่งเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค, ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้าและพลังงาน O&M เซอร์วิส และธุรกิจการบริการสุขภาพเฮลท์แคร์ที่มีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างสูง
ดังนั้นหลังจากการระดมทุนครั้งนี้ RATCH มุ่งขยายธุรกิจให้มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ปัจจุบันบริษัทได้เข้าลงทุนสัดส่วน 10% ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINCและถือหุ้น 9.91% ในโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในเครือบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH
โดย RATCH มีแผนระดมทุนเพิ่มอีก 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน 725 ล้านหุ้น เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมราคาหุ้นละ 34.48 บาท อัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ กำหนดระยะเวลาจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2565 โดยบริษัทจะนำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับขยายการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต
ขณะที่ผู้สื่อข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้บริหาร RATCH เกี่ยวกับเรื่องการซื้อหุ้น BH ดังกล่าว แต่ฝ่าย บริหารปฏิเสธจะให้ข้อมูลใด ๆ ระบุแค่เพียงว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลและไม่สะดวกตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
สำหรับผลประกอบการ BH ช่วงปกติ (ก่อนโควิด-19) พบว่ามีรายได้เฉลี่ยปีละ 18,000-19,000 ล้านบาท กำไรสุทธิปีละ 4,000 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 20-22% ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยปีละ 1.50-2% และมูลค่าตลาด (Market Cap) ประมาณ 100,000-130,000 ล้านบาท
โดยธุรกิจหลัก RATCH คือ การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงให้บริการบริหารจัดการและเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการต่าง ๆ บริษัทมีการดำเนินงานโดยตรงผ่านบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (RG) ด้วยกำลังการผลิตที่ 3,645 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าอิสระ (IPP) รายใหญ่สุดในไทย โดยถือหุ้น 100% ในบริษัท RATCH Australia Corporation (RAC) ที่ดำ เนินงานโครงการด้วยแหล่งพลังงานประเภทต่าง ๆ ที่รวมถึงพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานร่วม(Cogeneration)
โดยมีสัดส่วนรายได้จากโครงการ RG และ RAC รวมกันคิดเป็น 84% ของรายได้รวมปี 2564 และหากแบ่งสัดส่วนรายได้ตามแหล่งพลังงาน พบว่า มีรายได้ 80% มาจากโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซและถ่านหิน) ส่วนที่เหลืออีก 20% มาจากโครงการพลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์ ลมและน้ำ)