สธ.พบ 1 รายต่อเครื่องไทย “ออกตุ่มฝีดาษลิง” ออสเตรเลีย จ่อตั้งทีมสอบสวน
กรมควบคุมโรค เผยข้อมูลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในไทย แม้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่พบผู้ป่วยยืนยันจากออสเตรเลียติดเชื้อ หลังเดินทางมาต่อเครื่องที่ไทย 2 ชั่วโมง ตั้งทีมติดตามคนใกล้ชิดผ่าน 7 วันยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยความคืบหน้ารายงานสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังฝีดาษลิงในด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ภายในทางอากาศยานสุวรรณภูมิมี 1 ราย ที่บินมาจากประเทศทางยุโรป มาต่อเครื่องในไทย 2 ชั่วโมง เพื่อไปออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วพบว่า มีอาการ ตรวจเชื้อแล้วเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งนี้ ระหว่างต่อเครื่องยังไม่มีอาการป่วย จึงถือว่าผู้สัมผัสใกล้ชิด ไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เพราะตอนใกล้ชิดยังไม่ได้ป่วย จึงไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยสงสัย แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คือ ผู้โดยสารเครื่องบิน ลูกเรือ รวม 12 คน ตอนนี้ผ่านมา 7 วันแล้ว ยังไม่พบผู้ที่มีอาการ เราจึงต้องติดตามให้ครบ 21 วัน
นพ.จักรรัฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ และมาต่อเครื่องในไทยไม่นาน ซึ่งระหว่างนั้นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดก็จะไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้ไม่มีอาการใดๆ อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกัก 21 วันที่บ้าน
โดยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจากผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวัน จึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business class ซึ่งนั่งห่างกันพอสมควร ทำให้การติดเชื้อไม่ง่าย เพราะต้องใกล้ชิดจริงๆ อย่างเหตุการณ์ในยุโรป จะมีการใกล้ชิด กอดจูบ
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้นิยามผู้ป่วยสงสัย คือ มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต ไม่ว่าจะที่คอ ศอก ขาหนีบ มีผื่นตามลำตัว ใบหน้า แขนขา ลักษณะเริ่มจากผื่น ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด แม้จะไม่มีไข้ แต่มีผื่นเหล่านี้ก็นับเข้านิยามอยู่ โดยทั้งหมดนี้จะร่วมกับประวัติเชื่อมโยงระบาดวิทยา ภายใน 21 วัน หรือก่อนมีอาการ หากมาจากพื้นที่เสี่ยงเกิดการระบาด หรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า แต่ต้องย้ำว่าแม้เป็นฝีดาษลิง แต่สัตว์แพร่โรคยังมีสัตว์ฟันแทะ สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น หนู ลิง แต่เป็นสัตว์ที่มีต้นกำเนิดหรือนำเข้ามาจากแอฟริการเป็นหลัก ฉะนั้น ลิงเมืองไทยที่ไม่เคยไปแอฟริกามาก่อน หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้านไม่ได้นำเข้าจากแอฟริกา ยังไม่เข้าเกณฑ์
สำหรับโรคฝีดาษลิง ประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 406 รายจาก 32 ประเทศ ผู้ป่วยสงสัย 88 ราย เช่น แคนาดา 63 ราย อังกฤษ 101 ราย เยอรมนี 22 ราย สเปน 139 ราย โปรตุเกส 74 ราย ส่วนที่มีรายงานรายใหม่ เช่น ไอร์แลนด์ มอร์ต้า เม็กซิโก เอกาดอร์ และ ปากีสถาน ประเทศละ 1 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนยังไม่มีรายงานผู้ป่วย