สธ.เลิกรายงาน “ผู้ติดเชื้อโควิด” เน้นตัวเลข “ป่วยหนัก” เริ่ม 1 มิ.ย.นี้
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเปลี่ยนรายงานสถานการณ์โควิด-19 โดยยกเลิกการรายงานยอดผู้ติดเชื้อที่ตรวจ RT-PCR เน้นการรายงานตัวผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดในไทยวันนี้รายใหม่ 3,854 ราย ปอดอักเสบ 882 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 425 ราย เสียชีวิต 26 ราย จากตัวเลขพบว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องแบบช้าๆ แต่ยังพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ที่พบว่าครึ่งหนึ่งยังไม่ได้วัคซีนโควิดเลย ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงยังต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งรักษาที่บ้าน (HI) หรือเจอแจกจบ (OPD) สัปดาห์ที่ผ่านมา 248,719 ราย ฉะนั้น สถานการณ์โดยรวมของผู้ติดเชื้อจาก RT-PCR และ ATK ใกล้เคียงกันลักษณะคงตัว ทั้งนี้ การเตือนภัยสุขภาพกรณีโควิดตอนนี้ยังอยู่ในระดับ 3 จาก 5 โดยทุกจังหวัดเน้นย้ำเรื่องไม่ให้กลุ่มเสี่ยง 608 ผู้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็มเข้าไปสถานที่เสี่ยง เช่น ผับ บาร์ ทั้งนี้สัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาปรับระดับประกาศเตือนภัยลงเหลือ 2
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิดกำลังเข้าสู่ระยะผ่อนคลาย ทุกจังหวัดอยู่ในขาลง (Declining) มากขึ้น ดังนั้น จากเดิมกระทรวงสาธารณสุขรายงานผู้ติดเชื้อเป็นหลัก ก็จะปรับมาเน้นผู้ป่วยที่มีอาการแล้วเข้าระบบรักษาในโรงพยาบาลเป็นหลัก เพื่อสู่โหมดเฝ้าระวัง ดังนั้น ช่วงก่อนหน้านี้ที่เป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องหาผู้ติดเชื้อ การตรวจ ATK มีความจำเป็น แต่ในระยะนี้ที่มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น เราก็จะเน้นย้ำการตรวจเมื่อมีอาการป่วย, กลุ่มเสี่ยงสูง 608, กลุ่มที่ดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็ก, กลุ่มที่จะระบาดวงกว้างง่าย และกิจกรรมต่างๆ ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก
สำหรับวัยทำงาน กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วอาการน้อยก็จะมีความจำเป็นตรวจ ATK ลดลง อย่างไรก็ตาม ในการดูสถานการณ์ติดเชื้อ จะดูผ่านผู้ที่ลงทะเบียน สปสช. ทั้งระบบ HI และเจอแจกจบที่เฉลี่ยตอนนี้ประมาณวันละ 3 หมื่นราย แต่การรายงาน RT-PCR รายวันจะไม่มีแล้วจะปรับเป็นผู้ป่วยที่มีอาการต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างเดียว ทำให้ฐานการรายงานควรเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อแล้ว โดยจะเริ่ม 1 มิถุนายนนี้ แต่คาดว่า 1-2 สัปดาห์แรกตัวเลขจะมีสวิงบ้าง มีข้อติดขัดบ้าง แต่ขอให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อน
ส่วนการปรับลดระดับเตือนภัยจะประกาศพร้อมกันทุกจังหวัดหรือไม่ รวมถึงมาตรการสวมหน้ากากอนามัยจะอยู่ในการปรับลดระดับเตือนภัยหรือไม่ นพ.จักรรัฐ ชี้แจงว่า ต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารอีกครั้งถึงแนวทางจะปรับรายจังหวัดหรือทั้งประเทศ ส่วนเรื่องสวมหน้ากากเป็นมาตรการส่วนบุคคล อาจมีพิจารณา แต่ต้องมีเกณฑ์กำหนดอีกครั้ง คาดว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการปรับลดระดับเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 ทั้งนี้ ยังต้องใช้มาตรการ Universal Prevention ต่อไป ช่วยลดโรคอื่นได้ด้วย