ดุเดือด! อภิปราย “งบปี 66” วันแรกฝ่ายค้านลั่นตีตก เหตุไม่ตอบโจทย์ฟื้นฟู

การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วันแรก พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศไม่รับร่าง เหตุรับไม่กับการจัดทำงบ ไม่ตอบโจทย์การฟื้นฟูหลังโควิด-19 และรับมือวิกฤตสงคราม ขณะที่นายกรัฐมนตรี ย้ำงบ 3.18 ล้านล้านเน้นการฟื้นฟู และแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.40 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยก่อนเข้าวาระการประชุมฯ นายชวน ได้แจ้งให้ทราบกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำพิพากษาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ลำปาง เขต 4 แทน นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง พรรคเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในช่วงที่เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายวัฒนา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

จากนั้น นายชวน ได้แจ้งถึงประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้ นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นนายชัยทิพย์ ได้กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่

ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566  โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเร่งให้บรรลุ 13 เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึง 406 แผนงานตามโครงการยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อ 19 พฤจิกายน 2564 รวมถึงแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า จัดสวัสดิการที่จำเป็นเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม  และส่งเสริมการกระจายออำนาจ

โดยการดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ 2566 เป็นแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ ที่ 2.490 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 695,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3.185 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณ สำหรับฐานะการคคลัง เมื่อ 31 มีนาคม 2565 พบหนี้สาธารณะคงค้าง ที่ 9.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ 70% ส่วนเงินคงคลัง เมื่อ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน  3.9  แสนล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงด้วยว่า เป้าหมายการจัดทำงบประมาณ จะเน้นการพัฒนาประเทศ และการฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเน้นพัฒนาประชาชนฐานรากให้เข้มแข็ง โดยมีสาระสำคัญ คือ วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 6.95 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 1แสนล้านบาท ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 7,019 ล้านบาท ทั้งนี้สามารถจำแนกเป็นกลุ่มงบประมาณ ได้แก่ 1.งบกลาง จำนวน 5.9 แสนล้านบาท , 2.รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนว 1.09 ล้านล้านบาท , 3.รายจ่ายบูรณาการ จำนวน 2.18 แสนล้านบาท , 4.งบรายจ่ายบุคคล จำนวน 7.7 หมื่นล้านบาท, 5.งบทุนหมุนเวียน จำนวน 2.06 แสนล้านบาท , 6.งบเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 3.06 แสนล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อว่า เมื่อจำแนกตามยุทธศาสตร์ จะสามารถแบ่งได้ 6 เรื่อง ได้แก่  ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จัดสรรไว้ 2.96 แสนล้านบาท เพื่อ สร้างความมั่นคงของชาติ,รักษาความสงบภายในประเทศ, พัฒนาและเสริมสร้างการเมือองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข,​ การแก้ปัญหาภาคใต้

ด้านความสามารถในการแข่งขัน จัดสรรคไว้ 3.96 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาด้สนคมนาคมโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง โดยเฉพาะการพัฒนาขนส่งทางราง สายเด่นชัย – เชียงราย-เชียงของ , สายบ้านไผ่-มหาสารคาม- ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร- นครพนม และพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง กทม. – นครราชสีมา , พัฒนาด้านการเกษตร, พัฒนาเขตเศรษกิจภาคตะวันออก เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรจำนวน 5.49แสนล้านบาท , ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จัดสรรงบประมาณ 7.59แสนล้านบาท , ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบปะมาณ 1.22 แสนล้านบาท และ ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จัดสรรงบประมาณ จำนวน 6.58 แสนล้านบาท

นอกจากนั้นรัฐบาล ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมถึงการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ อีกจำนวน 4.02 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.5 หมื่นล้านบาท, การบริหารหนี้ภาครัฐ จำนวน 3.06 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท , ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 2.06 แสนล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566

สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564 มีจำนวน 2.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 เพราะเป็นการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้  ที่ผ่านมาฝ่ายค้านไม่เคยปฏิเสธการจัดทำงบประมาณในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่รับหลักการในวาระแรก แต่เห็นว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงประชาชน จัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ขาดการวางแผนและความสามารถที่จะนำประเทศให้รอดพ้นวิกฤต ฝ่านค้านจึงมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะไม่รับหลักการ เพราะจะเป็นการทำลายประเทศ สู้ยอมเสียโอกาสไปบ้าง แล้วให้มีการจัดสรรใหม่  ส่งผลให้ประเทศมีรายได้หด รายจ่ายแพง หนี้สินขยายตัว

เหตุผลที่ฝ่ายค้านไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 เนื่องจากรัฐบาลหมดสภาพ ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ความรู้ความสามารถ และพยายามเหนี่ยวรั้งที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะการทำงานในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลหาเงินไม่เป็น ไม่ประนีประนอมกับประชาชน และเป็นรัฐบาลที่สร้างมรดกหนี้ เช่น หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนสูงสุดในประวัติการณ์ หนี้เสีย (NPL) ขาดภาวะความเป็นผู้นำทั้งในประเทศและเวทีโลก

โดยการจัดทำงบประมาณปีนี้ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนที่เหมาะสม เป็นงบประมาณขาดดุล ที่ต้องกู้เงิน 6.95 แสนล้านบาทจากเพดานเงินกู้ที่มีอยู่ 7.08 แสนล้านบาท ซึ่งมีโอกาสทำผิดวินัยการเงินการคลังเ พราะเป็นการตกแต่งกรอบเพดานเงินกู้ให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบสิ้นหวัง  เพราะจัดสรรไม่สอดคล้องกับลำดับความสำคัญ ซึ่งจะทำให้ประเทศเผชิญวิกฤต เช่น งบฟื้นฟูด้านการศึกษา งบสนับสนุนภาคเอสเอ็มอีที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่กลับถูกตัดงบประมาณ แล้วไปเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง

นอกจากนี้การจัดทำงบประมาณยังเอื้อประโยชน์หรือส่อโกง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเหมือนกับถูกพรรคร่วมรัฐบาลเรียกค่าไถ่ต่อรองกับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไป โดยการบิดเบือนการใช้ภาษีของประชาชนจากเดิมที่หวังตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ มาเป็นตอบสนองความต้องการของนักการเมือง

Back to top button