GFPT แย้มงบ Q2 เด่นกว่า Q1 เล็งอัพเป้ารายได้ปีนี้โต 7-15% รับดีมานด์ไก่พุ่ง-ราคาสูง

GFPT แย้มงบ Q2/65 เด่นกว่า Q1 เล็งอัพเป้ารายได้ปี 65 โต 7-15% รับดีมานด์ไก่พุ่ง-ราคาสูง ตั้งงบลงทุนปีนี้ 1-1.2 พันลบ. ลุยขยายฟาร์มเลี้ยงไก่-โรงเชือด  


นายวีระ ธิตยางกรุวงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 31 พ.ค. 2565 ว่า ภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนจากธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะรายได้ จากการส่งออกไก่แปรรูป และรายได้จากการขายชิ้นส่วนไก่ในประเทศที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยมีปัจจัยบวกจากกำลังการผลิตไก่แปรรูปปรุงสุก 2,500 ตันต่อเดือนจาก 5 ไลน์การผลิตใหม่ของบริษัทฯ ประกอบกับราคาขายชิ้นส่วนไก่สดและ ผลพลอยได้จากไก่ในประเทศที่เพิ่มขึ้น

โดยกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จำนวน 4,008.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 704.52 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.32 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 จำนวน 455.74 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นร้อยละ 651.83 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2564

ส่วนแนวโน้มผลประกอลบการไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 1/2565 โดยบริษัทเตรียมพิจารณาทบทวนเป้าหมายรายได้จากยอดขายปี 65 เติบโต 7-15% จากเดิมคาดเติบโต 5-10% จากปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 13,780 ล้านบาท เนื่องจากผลประกอบการในไตรมาส 2/65 มีแนวโน้มดีขึ้นจากไตรมาส 1/65 ที่มีรายได้จากการขายเติบโต 21%

สำหรับอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ในปีนี้ตั้งเป้าไว้ในระดับ 10-11% โดยในไตรมาส 1/2565 มีมาร์จิ้นสูงถึง 14.2% แต่ไตรมาส 2/2565 มาร์จิ้นอาจจะได้รับแรงกดดันจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาข้าวโพดและกากถั่วเหลืองที่ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนทิศทางราคาไก่ในครึ่งปีหลัง หากราคาอาหารสัตว์ยังทรงตัวระดับสูงน่าจะเป็นเหตุผลในการขอปรับขึ้นราคาเนื้อไก่ต่อกรมการค้าภายในเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น โดยไตรมาส 1/65 ราคาไก่เป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 39-40 บาท/กก. และในปัจจุบันราคาขยับขึ้นมาเป็น 42-43 บาท/กก.

นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายทำให้มีความต้องการบริโภคมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกเนื้อไก่ยังดีต่อเนื่องรับผลดีจากเงินบาทอ่อนค่า และการที่อังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้ไทยสามารถส่งออกไปอังกฤษได้โดยตรง ไม่ต้องอยู่ภายใต้โควต้าของกลุ่มอียู และยังมีตลาดซาอุดิอาระเบียที่เป็นตลาดใหม่ของไก่สดแช่แข็งเพิ่มเข้ามา

ส่วนดีมานด์ไก่ในญี่ปุ่นและอียูที่เป็นตลาดหลักของบริษัทยังไม่ได้กลับไปดีเท่ากับช่วงก่อนโควิด และค่าระวางเรือยังสูงขึ้น โดยสมาคมผู้ส่งออกไก่คาดว่าในปีนี้จะส่งออกเนื้อไก่ราว 9.4 แสนตัน จากปีก่อน

สำหรับแผนการขยายกําลังการผลิตของกลุ่มบริษัทในอนาคต กลุ่มบริษัทมีแผนการขยายกำลังการผลิตไก่เนื้อทั้งวงจรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการขยายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต กลุ่มบริษัทอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อไก่แห่งใหม่ โดยจะมีกำลังการเชือดไก่ 150,000 ตัวต่อวัน

อีกทั้งมีโครงการสร้างโรงงานแปรรูปปรุงสุกแห่งใหม่ ด้วยกำลังการผลิตไก่แปรรูปเพื่อส่งออก ประมาณ 24,000 ตันต่อปี ขณะเดียวกันบริษัทฯ วางแผนการขยายโรงงานผลิตอาหารไก่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดรับกับแผนการขยายกำลังการผลิตไก่เนื้อทั้งวงจร ขณะที่ปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 1-1.2 พันล้านบาท

Back to top button