ศาลแพ่งชี้ขาด SCN ชนะคดี “หลุมก๊าซ” สั่ง “อีโค โอเรียนท์” ชดใช้ 41 ลบ.

SCN รับทรัพย์กว่า 41 ลบ. หลังศาลแพ่งสั่งบังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงดาบ “อีโค โอเรียนท์” ชดใช้ค่าเสียหายคดีข้อพิพาทผิดสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากหลุมก๊าซ จ.เพชรบูรณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้เรียกร้อง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท อีโค โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ECOR ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จากหลุมก๊าซ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีคำชี้ขาดให้ SCN ชนะคดี รับเงินชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ศาลแพ่ง ได้มีคำพิพากษาให้บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซ็ส (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 29/2563 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 18/2564 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกยึดทรัพย์ จับกุม จำขังหรือบังคับคดีตามกฎหมาย

โดยหลังจากที่ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซ็ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ที่ให้ SCN ชนะคดีข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายก๊าซ เนื่องจากบริษัท อีโค โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ไม่สามารถจัดส่งก๊าซให้ตามที่ตกลงกันในสัญญา และชำระเงินค่าความเสียหายให้ SCN เป็นจำนวน 40,712,438.34  บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้น

ทั้งนี้ นอกจากศาลแพ่งได้พิพากษาให้ ECOR รับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ แล้ว ยังได้ให้  ECOR ชดใช้ค่าเสียหาย รวมทั้งค่าทนาย  แก่ SCN ด้วย โดยถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่า การจะทำกิจการอันใดที่เกี่ยวข้องกับความถูกต้องและผลประโยชน์ของประเทศชาติ จะต้องพิจารณาอย่างดีและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน เพื่อมีส่วนช่วยในการร่วมกันรักษาสมบัติของประเทศไม่ให้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับ SCN ยึดถือเรื่องการดำเนินงานอย่างสุจริตและมีจริยธรรมเป็นกฎหลักมาตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วมีมติให้ทนายความของ SCN บอกเลิกสัญญาซื้อขายก๊าซดังกล่าว พร้อมเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีผู้ประกอบการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติจากการผิดสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ จากหลุมก๊าซ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้รับผิดชดใช้ ค่าเสียหาย

 

Back to top button