GUNKUL พร้อมรับ “กัญชา-กัญชง” เสรี ลุยส่งออก “ช่อดอกแห้ง” โซนยุโรป-อเมริกา
GUNKUL พร้อมรับ “สธ.” ปลดล็อค “กัญชา-กัญชง” มีผลตั้งแต่ 9 มิ.ย.65 เดินหน้าส่งออกช่อดอกแห้งแบบ Medical Grade ใช้ทางการแพทย์ไปโซนยุโรปและอเมริกา ลุยโปรเจ็กต์สร้างโรงงานสกัด คาดเริ่มดำเนินการภายในปี 66
ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ทำให้ประชาชนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้ง มองเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวถือเป็นผลบวกต่อบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมถึง GUNKUL ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้ โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในช่วงแรก คือ ผู้ประกอบการกลุ่มต้นน้ำ (ผู้ปลูก) และกลางน้ำ (โรงสกัด) ที่คาดว่าจะเห็นรายได้เข้ามาก่อน ซึ่งจะมีอำนาจต่อรองราคาสูงและมีความเสี่ยงด้านการแข่งขันต่ำ กว่าผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ(กลุ่มเครื่องดื่ม,เครื่องสำอางค์)
“การปลดล็อกทั้งกิ่ง ก้าน ช่อดอก และเมล็ด ทำให้กัญชง-กัญชามีโอกาสกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบัน Pfizer Johnson และบริษัทยาระดับ Top 10 ของโลกเจ้าอื่น กำลังสนใจในการนำกัญชง-กัญชามาใช้ ซึ่งตลาดกัญชง-กัญชาสำหรับการใช้ในทางการแพทย์ปัจจุบันมีมูลค่าที่ 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งอาจเติบโตได้ถึงปีละ 100% ไปอีก 6-7 ปี ทำให้ตลาดกัญชง-กัญชาเติบโตเป็น 3 แสนล้านเหรียญ”ดร.สมบูรณ์ กล่าว
ขณะที่ปัจจุบันราคารับซื้อช่อดอก Medical Grade โดยองค์การเภสัชกรรมอยู่ที่ 45,000 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นหนึ่งสามารถผลิตดอกออกมาได้ 250 กรัม คือ 1 ต้นมีมูลค่าเกือบ 1 หมื่นบาท ส่วนเมล็ดมีราคารับซื้อที่ 800-1,000 บาท โดย 1 ไร่ สามารถผลิตได้ 100 กิโลกรัม โดย GUNKUL มีเป้าหมายต้องการผลิตกัญชง-กัญชาระดับ Medical Grade เพื่อใช้ในทางการแพทย์ การควบคุมการเพาะปลูกจึงสำคัญมาก ซึ่งทำให้มีเคมีตรงกับกลุ่มนักปลูกกัญชงกัญชา (Grower) ที่ได้ร่วมมืออยู่ในปัจจุบันที่เน้นการปลูกแบบไม่มีการปนเปื้อนและมีการควบคุมที่ดี เช่น การปลูกแบบ Hydroponics การใช้น้ำ RO (Reverse Osmosis) การปลูกในวัสดุปลูกดินเผา การเพาะในโรงเรือนแบบกึ่งปิด เป็นต้น
“การเพาะปลูกกัญชาที่มีคุณภาพเท่านั้นถึงจะมีความยั่งยืน ซึ่งบริษัทฯ มีข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากร คือ มีต้นทุนด้านพลังงานที่ต่ำกว่าและมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก และยังมีแหล่งน้ำเพียงพอและพื้นที่มีความแห้ง เย็น และมีอากาศถ่ายเท เนื่องจากใต้กังหันมีลมพัดผ่านตลอดเหมาะกับกัญชง-กัญชา ที่ชอบอากาศประมาณ 20-30 องศา ส่วนการปลูกก็เป็นแบบ Hydroponics ใช้น้ำ RO (Reverse Osmosis) การปลูกในวัสดุปลูกดินเผา การเพาะในโรงเรือนแบบกึ่งปิด ทำให้มั่นใจได้ว่ากัญชา กัญชงที่ GUNKUL เพาะปลูกมีมาตรฐานและมีศักยภาพมากพอสำหรับส่งออกเพื่อใช้การทางการแพทย์”
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังมีโปรเจ็กต์สร้างโรงงานสกัดที่ได้รับมาตรฐาน PIC/S (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) คือ มาตรฐานการผลิตยาขั้นสูง ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU-GMP) ที่ใช้กันเป็นกฎหมาย โดยอ้างอิงตาม Guideline ของ WHO2003 สำหรับใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่คาดว่าจะพร้อมดำเนินการภายในปี 2566 ที่จะถึงเป็นเฟสถัดไป
ขณะเดียวกันจากการที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องอากาศที่ไม่เย็นจนเกินไป ทำให้มีต้นทุนในการควบคุมสภาพแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับต่างชาติ GUNKUL จึงมีแผนใช้ความได้เปรียบตรงนี้ในการส่งออกช่อดอกแห้งแบบ Medical Grade เพื่อใช้ทางการแพทย์ส่งไปยังต่างประเทศโซนยุโรปและอเมริกา หลังจากการปลดล็อกช่อดอกที่จะมีผลวันที่ 9 มิถุนายนนี้