“ดาวโจนส์” ร่วงกว่า 100 จุด บอนด์ยีลด์-ว่างงานพุ่งกดดันตลาด
“ดาวโจนส์” ร่วงกว่า 100 จุด บอนด์ยีลด์-ว่างงานพุ่งกดดันตลาด โดย ณ เวลา 20.44 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,760.43 จุด ลบ 150.47 จุด หรือ 0.46%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 100 จุดในวันนี้(9มิ.ย.2565) โดยถูกกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขคนว่างงานที่สูงเกินคาด โดย ณ เวลา 20.44 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,760.43 จุด ลบ 150.47 จุด หรือ 0.46%
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 3% ในวันนี้ ขานรับผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. และจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี
นอกจากนี้ ECB ประกาศยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อในยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับ 8.1% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 และสูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2%
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 27,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 210,000 ราย
นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพรุ่งนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
นอกจากนี้ ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เฟดเริ่มใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ในเดือนมิ.ย. ตามมติในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 4 พ.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน