“บล.พาย” แนะ 9 หุ้นปลอดภัย หลบเงินเฟ้อ-เฟดขึ้นดบ.
“บล.พาย” แนะ 9 หุ้นปลอดภัย ได้แก่ BCH, CHG, ADVANC, INTUCH, CPALL, BJC, ASIAN, TU และ BEM หลบเงินเฟ้อ-เฟดขึ้นดอกเบี้ย
บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้น Dow Jones ปรับฐานแรง 2.70% , Nasdaq -3.50% รับแรงกดดันจากการรายงานเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI) ที่ออกมาขยายตัว 8.60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าตลาดประเมินที่ 8.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และสูง 0.70% จากเดือนก่อนหน้า และสูงสุดในรอบ 41 ปี โดยแรงหนุนหลักยังมาจากราคาพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน, ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 48.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน, น้ำมันเตา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 106.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และราคาอาหารรวมๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อย ที่เพิ่มขึ้น 5.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แรงหนุนจากยานพาหนะใหม่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.60% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรถมือสองและรถบรรทุก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันหากประเมินการเคลื่อนไหวของดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) พบว่าความชันยังคงปรับขึ้นต่อเนื่องบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ถึงจุดสูงสุด นอกจากนี้หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบ BRT ช่วงเดือน มิ.ย. จะพบว่าปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. อาจจะสูงกว่าเดือน พ.ค. โดยความเห็นของตลาดล่าสุดเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยเชื่อว่าการประชุมเดือน มิ.ย. FED จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50%
สำหรับสัปดาห์นี้ปัจจัยหลักของตลาดจะไปให้น้ำหนักกับการประชุม FED ในวันที่ 14 – 15 มิ.ย. หรือทราบผลอย่างเป็นทางการช่วงเวลาตี 1 ตามเวลาประเทศไทยในวันที่ 16 มิ.ย. สำหรับผลประชุมครั้งนี้ตลาดคาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% และดอกเบี้ยทั้งปี 2565 ตลาดคาดไว้ที่ 3.00% – 3.25% ซึ่งการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างมีความสำคัญเพราะจะเปิดเผยทั้งประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ (GDP, เงินเฟ้อ, ดอกเบี้ยระยะกลาง – ยาว) และมีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับความเสี่ยงการประชุมครั้งนี้นั่นคือความเข้มงวดจาก FED เนื่องจากในการประชุมครั้งก่อน (มี.ค. 2565) FED คาดการณ์เงินเฟ้อ (PCE) เฉลี่ยปี 2565 เพียง 4.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน PCE สหรัฐเฉลี่ยอยู่ที่ 5.10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมาย้อนหลัง 51 ปี พบว่าเฉลี่ยแล้วดอกเบี้ยสหรัฐมักจะอยู่สูงกว่าเงินเฟ้อ PCE ราว 1.50% หากอิงกับคาดการณ์ PCE จาก FED ในปี 2566 พบว่าอยู่ที่ 2.70% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นเป็นไปได้ที่อาจเห็นดอกเบี้ยสหรัฐขยับไปสูงถึง 4.20% สูงกว่า FED ประเมินไว้ที่ 2.80% ในปี 2566
อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงในอดีตมักตามมาด้วยการปรับลงของตลาดหุ้น ปัจจัยอื่นๆในสัปดาห์นี้ ได้แก่ (1) การรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐคาดทราบผลทางการในวันอังคารช่วงกลางคืนตามเวลาประเทศไทย Bloomberg คาดที่ 0.80% จากเดือนก่อนหน้า หากเร่งแรงกว่าคาดก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ (2) ยอดค้าปลีกสหรัฐคาดทราบผลวันพุธกลางคืนตามเวลาประเทศไทย Bloomberg ประเมิน จะขยายตัว 0.20% จากเดือนก่อนหน้า หากเร่งแรงกว่าคาดก็จะเป็นปัจจัยกดดันตลาด สัปดาห์ประเมินต้นสัปดาห์ SET ปรับฐานลงตาม Dow Jones ในวันศุกร์
โดยมองกรอบทั้งสัปดาห์ จะอยู่ที่ 1,590 – 1,630 จุด เชิงกลยุทธ์การลงทุนแนะทยอยลดพอร์ตเช่นเดิมเพราะยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงช่วงถัดไป หุ้นแนะนำเน้น Defensive Stock อาทิ โรงพยาบาล ได้แก่ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG ส่วนสื่อสาร ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH
นอกจากนี้หุ้นกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ด้านหุ้นกลุ่มส่งออก ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU
สำหรับ TU แนะนำ “ซื้อ” กำหนดราคาเป้าหมายไว้ที่ 22.10 บาท โดยการปรับราคาทำได้ที่ฝรั่งเศสในช่วงไตรมาส 2/2565 รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทำให้ช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุนลงได้ การออกสินค้าใหม่ๆยังมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่ม Value added หนุนผลประกอบการค่อยๆฟื้นตัวและได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท
ส่วน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แนะนำ “ซื้อ” กำหนดราคาเป้าหมายไว้ที่ 22.10 บาท ซึ่งคาดจำนวนการโดยสารรายวันจะแตะระดับ 70% ของช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดภายในไตรมาส 3/2565 และคาดว่าจะกลับสู่ระดับปกติของช่วงก่อนวิกฤติได้ภายในปลายปี 2566 รับแรง หนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาเกินครึ่งของจำนวนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19