ผู้ว่าฯ ธปท. ห่วงท่องเที่ยวฟื้นยาก แนะ 5 ด้าน สร้างภูมิคุ้มกันศก.
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กังวลการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะการทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาในระดับ 40 ล้านคนค่อนข้างยาก และถ้าการท่องเที่ยวไม่ฟื้นจะกระทบต่อการจ้างงาน และยิ่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาได้ยาก พร้อมแนะสร้างภูมิคุ้มกัน 5 ด้านกับเศรษฐกิจไทย
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย ว่า ธปท.ได้กังวลในเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะจะให้กลับมามีนักท่องเที่ยวระดับ 40 ล้านคนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก และถ้าการท่องเที่ยวไม่ฟื้น จะทำให้กระทบต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาได้ยาก โดยขณะนี้การท่องเที่ยวเที่ยวยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แม้จะมีทิศทางที่ดีจากการเริ่มเปิดประเทศ
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้หลังจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ มองว่า คือภาคการส่งออกที่จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้น แต่การจ้างงานไม่ได้มาก โดยส่วนตัว ยังมั่นใจว่า โอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในไทยมีน้อยมาก ซึ่งโจทย์ต่อไปคือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ประเทศไทยได้เจอผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทั้งโควิด-19 และสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยคาดปีนี้เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.2% ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นยังไม่แน่นอน และผลกระทบจากต่างประเทศมีสูงขึ้น แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างกันชนต่างๆ 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านเสถียรภาพต่างประเทศ ปัจจุบันอยู่ในระดับแข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ เงินทุนสำรองประเทศอยู่ในระดับสูง สูง 2-3 เท่าของหนี้ต่างประเทศ
2.ด้านเสถียรภาพการคลัง แม้ปัจจุบันหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นกว่า 60% ต่อจีดีพี แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น หากไม่มีมาตรการด้านการคลัง จีดีพีจะติดลบ 9% ในปี 2563 แต่หนี้ที่เพิ่มไม่ได้น่าเป็นห่วง จนกระทบต่อเสถียรภาพ
3.ด้านเสถียรภาพการเงิน ยังมีความแข็งแกร่งดูได้จากฐานะการเงินของสถาบันการเงิน และมีเงินสำรองหนี้สูง มีความแข็งแกร่ง แต่มีการเงินครัวเรือนค่อนข้างเปราะบางอ่อนแอ จากหนี้ครัวเรือนสูง 90% ต่อจีดีพี เป็นการเร่งขึ้นช่วงโควิด แต่การเงินต่างๆยังต่างจากวิกฤติเมื่อปี 2540
4.ด้านเสถียรภาพราคา ซึ่งปัจจุบันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก และเริ่มส่งผ่านไปยังหลายสินค้า และเห็นสัญญาณเริ่มความกว้างขึ้นในหลายหมวดสินค้า ทำให้ต้องมาดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น เพราะอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้สะดุดได้ โดย ธปท.คาดเงินเฟ้อจะขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 7.5% จากนั้นจะเริ่มทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้เงินเฟ้อสูงในตอนนี้ได้กระทบกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เพราะกลุ่มนี้มีความมั่นคงทางการเงินน้อย มีทรัพย์สินที่ช่วยเอาไว้กันชนน้อย และพึ่งค่าจ้างแรงงานเป็นหลักและเงินเฟ้อกระทบครัวเรือนรายได้น้อย เพราะครัวเรือนบริโภคส่วนใหญ่อาหาร เครื่องดื่ม พลังงาน ทำให้ครัวเรือนถูกกระทบหนัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ย ธปท.ของไทย ไม่ต้องตามต่างประเทศ แต่ช้าเกินไปไม่ดี แนวทางปรับดอกเบี้ย อย่าช้าเกินไปเพื่อจะไม่ต้องทำแรงเกินไป
5.ด้านกลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ต้องมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันเหมาะกับบริบทต่างๆ ปรับเปลี่ยนสร้างความสมดุล นโยบายต้องมาจากข้อมูลและประเมินผลเป็นอย่างไร นโยบายถูกต้อง แต่อาจไม่ได้ถูกใจ การทำนโยบายดูภาพรวมส่วนรวม ต้องมีความโปร่งใส ที่มานโยบายต้องชัดเจน ต้องอธิบายให้คนเข้าใจได้ว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ ไม่ได้ทำถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง และต้องอธิบายสร้างความเข้าใจแก่คนได้ เป็นภูมิคุ้มกันที่ดี่ที่สุด