บาทอ่อนค่าทะลุ 35 บ. ดัน “หุ้นส่งออก” กำไรโต โบรกเชียร์ “ซื้อ”

โบรกเชียร์ซื้อ “หุ้นส่งออก” เด่น TU- GFPT -CPF-SAPPE- MEGA- ASIAN-KCE รับประโยชน์บาทอ่อนค่าทะลุ 35 บ./ดอลลาร์ ในรอบ 5 ปี ผลดังกล่าวทำให้หนุนกำไรเติบโตแกร่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 35.05 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.98 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค จากความกังวลของนักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า

ขณะที่นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่าวันนี้บาทแตะ 35 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี หลักๆมาจากตลาดกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้แรง พร้อมประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 34.95 – 35.10 บาท/ดอลลาร์

ด้าน นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะ 35 บาท/ดอลลาร์ โดยหุ้นส่งออกจะได้รับประโยชน์ อย่าง TU หากดูสัญญาณเทคนิคให้แนวต้าน 17.80-18.00 บาท ขณะที่แนวรับ 17.20 บาท และ ASIAN หากดูสัญญาณเทคนิคให้แนวต้าน 18.00 บาท ขณะที่แนวรับ 17.00 บาท

ขณะที่บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (15 มิ.ย.2565) ว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากเงินเฟ้อไทยที่สูง 7.1% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายตรึงไว้ที่ระดับต่ำ 0.5% บวกต่อหุ้นส่งออก ได้แก่ GFPT แนะนำ “ซื้อ”  ราคาเป้าหมาย 20 บาท, CPF แนะนำ “เก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 28 บาท, SAPPE แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 38 บาท, MEGA แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 65 บาท, ASIAN แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 21.60 บาท, KCE แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 80 บาท ที่น่าจะ Outperform ฝ่าเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 15 มิ.ย.65 อ่อนค่าผ่านแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 35.02 (8.35 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงประคองก่อนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในคืนนี้ จากการคาดการณ์ของตลาดบางส่วนที่ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมรอบนี้เพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ยังคงอยู่ในระดับสูง (CPI เพิ่มขึ้น 8.6% ซึ่งสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ขณะที่ PPI อยู่ที่ 10.8% ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.9%)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.95-35.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plot และประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ของเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค.ของจีน และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากเฟดสาขานิวยอร์ก

ขณะที่แนวโน้มเงินบาทในครึ่งปีหลังยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจดี และการท่องเที่ยวฟื้นตัว อาจทำให้เงินบาทกลับมาฟื้นคืนได้อีกครั้ง โดยช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐประกาศเมื่อสิ้นสัปดาห์ก่อนเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ตลาดหุ้นไทยและพันธบัตรไทยรวมกันแล้วกว่า 2,603 ล้านบาท

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 15 มิ.ย.2565 ที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (ทราบผลในเวลา 01.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยบรรดานักวิเคราะห์รวมถึงผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างมองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด หรือ FOMC เดือนมิถุนายน เฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50%-1.75%

พร้อมกันนี้ ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ เฟดสามารถส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งตลาดจะรอจับตาประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ของเฟด รวมถึงคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference เพื่อจับตาการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และที่สำคัญ ตลาดอาจรอฟังการประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวหนักจนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากประธานเฟด หลังจากประเด็นดังกล่าวเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในตลาดการเงินมากขึ้น

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนักในวันนี้ จนถึงช่วงรับรู้การประชุมเฟด โดยการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมครั้งนี้และการประชุมในเดือนกรกฎาคม ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจ “Sell on Fact” เงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หรือ เฟดแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น

ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจอยู่ถูกชะลอลงได้บ้าง จากแรงขายของฝั่งผู้ส่งออกบางส่วน รวมถึงการเข้ามาดูแลความผันผวนของค่าเงินจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนมองว่าระดับยีลด์เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นและอาจทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง ซึ่งฟันด์โฟลว์ดังกล่าวก็สามารถชะลอการอ่อนค่าได้เช่นกัน

อนึ่งมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านใหม่แถวระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล หรือ ไปทดสอบระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายๆ หากตลาดการเงินไม่ได้เผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ที่รุนแรง ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวงกว้างของจีน

Back to top button