จับตา 17 มิ.ย.นี้ “ศบค.” ถกแผนถอด “แมสก์” สู่โรคประจำถิ่น

จับตา 17 มิ.ย.นี้ “ศบค.” ถกแนวปฏิบัติเตรียมถอด “หน้ากากอนามัย” เน้นปลอดภัยเป็นหลัก สู่โรคประจำถิ่น


นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการถอดหน้ากากอนามัย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 เป็นประจำ ซึ่งมีการปรับมาตรการต่าง ๆ มากมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการเตรียมแนวปฏิบัติการถอดหน้ากาก ซึ่งต้องฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เพื่อความรอบคอบ คำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพของประชาชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดว่าประชาชนจะได้แนวปฏิบัติ ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ครั้งที่ 9/2565 วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 นี้ โดยขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างเพื่อประชาชน

อนึ่งก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายละเอียดแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้เห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่ Endemic approach โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้ ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้นเม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

Back to top button