“LGBTQ+” เฮ! สภาฯรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-พ.ร.บ.คู่ชีวิต 4 ฉบับ

สภาฯ รับหลักการร่าง “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-พ.ร.บ.คู่ชีวิต” 4 ฉบับ นับหนึ่งคืนสิทธิชีวิตคู่ "LGBTQ+" เพื่อคืนความหลากหลายทางเพศตามกฎหมายควรได้รับตามกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ, ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และคณะ

ทั้งนี้ นายธัญวัจน์ ได้นำเสนอหลักการ โดยยืนยันว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิ แต่เป็นการคืนสิทธิที่บุคคลมีความหลากหลายทางเพศตามกฎหมายควรได้รับตามกฎหมาย โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ขณะที่นายอิสระ นำเสนอหลักการว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของพรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อหาที่แตกต่างจากฉบับที่ ครม.เสนอ เนื่องจากฉบับของ ครม.ที่กระทรวงยุติธรรมยกร่างนั้น เป็นการเขียนเนื้อหาที่ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการเป็นคู่ชีวิตเป็นพลเมืองชั้นสอง และกำหนดให้เป็นบุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต แต่ฉบับของประชาธิปัตย์คือการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสมรส เป็นคู่ชีวิตกันได้ จึงเป็นการให้โอกาสคนทุกคน ทุกเพศ ไม่เลือกปฏิบัติกับเพศใด มองคนเท่ากัน เลือกกระดับความสัมพันธ์กับทุกระดับความสัมพันธ์

จากนั้นได้เข้าสู่การอภิปรายของสมาชิก ซึ่งใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ทั้งนี้พบว่าการอภิปรายส่วนใหญ่ของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ ครม.และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ ขณะที่ ส.ส.พรรครัฐบาล ให้ความเห็นในทิศทางตรงกันข้าม แม้จะยอมรับกับการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิตั้งสถาบันครอบครัว แต่คัดค้านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

โดยในช่วงท้ายของการอภิปราย และเป็นการทำหน้าที่ของนายศุภชัย โพธิสุ พบว่านายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้อภิปรายคนสุดท้ายของฝ่ายค้าน ขออภิปรายพร้อมเปิดคลิปวีดีโอที่ระบุว่า สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อให้ ส.ส.ฟังเสียงของประชาชน เนื่องจากทราบว่ามติของวิปรัฐบาลจะลงมติไม่รับหลักการ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากประธาน

ทำให้นายณัฐพงษ์ ต้องพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า ตนเป็น ส.ส.สมัยแรก มองว่า ระบบสภาที่ควบคุมด้วยวิปฯ จะผ่านกฎหมายเพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่  และไม่คิดว่า สมรสเท่าเทียมจะล้มด้วยมติวิปรัฐบาล จึงไปอัดคลิปประชาชนเพื่อมาเปิดในสภาฯ แต่ประธานไม่อนุญาต จึงขอร้องสมาชิกวันนี้หากเลือกด้วยหลักเหตุผล ยึดประชาชน โดยอย่ามองว่าเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาล เพราะทั้งหมดเป็นชัยชนะของประชาชน

จากนั้นช่วงเวลา 16:20 น. ที่ประชุมได้ลงมติแยกทีละฉบับ

1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกล สภาฯ รับหลักการ 210 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

2.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ซึ่ง ครม.เสนอ มติสภาฯ รับหลักการ 222 เสียง ไม่เห็นด้วย 167 เสียง

3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่ง ครม. เสนอ มติสภาฯ รับหลักการ ด้วยเสียง 230 เสียง ต่อ 169 เสียง

4.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ มติสภาฯ เสียงข้างมาก รับหลักการ ด้วยเสียง 251 เสียง ต่อ 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง

นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎร ยังตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 25 คน แบ่งตามสัดส่วน ครม. 5 คน และพรรคการเมือง 20 คน แปรญัตติภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ให้ยึดร่างกฎหมายที่ครม.เสนอ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นหลักในการพิจารณา

Back to top button