ฉุดไม่อยู่! กกพ. จ่อขึ้น “Ft” งวดก.ย.-ธ.ค.65 สูงกว่า 40 สต. เซ่นบาทอ่อน-ต้นทุนแพง
ฉุดไม่อยู่! กกพ. จ่อขึ้นค่า “Ft” งวดก.ย.-ธ.ค.65 อาจปรับขึ้นมากกว่า 40 สต./หน่วย เหตุจากผลกระทบบาทอ่อน-สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซเพิ่มสูงขึ้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวในการปาฐกถา “ไขข้อข้องใจ…รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” ว่า แนวโน้มการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.65) มีโอกาสปรับสูงขึ้นกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นราว 40 สต./หน่วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคา LNG สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง และการรับก๊าซฯจากเมียนมามีแนวโน้มลดลง อีกทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมากในขณะนี้
“สถานการณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ เป็นผลมาจากโครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทย ที่ยังพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า หรืออยู่ที่สัดส่วนประมาณกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซฯ ส่วนใหญ่ได้มาจากอ่าวไทย 65% อีก 12% มาจากแหล่งก๊าซฯในเมียนมา และอีก 10% มาจากการนำเข้าก๊าซ LNG” นายคมกฤช กล่าว
ดังนั้น แนวโน้มการปรับค่า Ft งวดสุดท้ายของปีนี้มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากที่เคยคาดการณ้ไว้เดิมเนื่องจากสัดส่วนการใช้ LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40% จากเดิมคาดว่าจะใช้ LNG ประมาณ 30% หลังจากราคาดีเซลปรับสูงขึ้นมาก แต่การปรับขึ้นค่า Ft งวดสุดท้ายของปีจะเป็นเท่าใดนั้น ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ ยังไม่รวมกับภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แบกรับไว้อีกกว่า 80,000 ล้านบาท
สำหรับการบริหารจัดการในระยะสั้น กกพ.เร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าไฟแพง โดยบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ ด้วยการยืดกำหนดปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 จากเดิมปี 64 มาเป็นปี 65 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 9-11 เลื่อนเป็นปี 68 เพื่อลดการนำเข้า LNG ราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า รวมถึงออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 60 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 100 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กกพ.ยังเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อรับมือกรณีเกิดวิกฤติต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผัวผวน โดยเสนอเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) ที่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผลิตเพื่อผลิตไฟฟ้าตามสถานการณ์ต้นทุนในขณะนั้น โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ