“รฟม.” พร้อมโอนส่วนต่อขยาย “สายสีเขียว” รอ กทม.หาข้อสรุปหนี้ 5.3 หมื่นล้าน

“รฟม.” พร้อมโอนส่วนต่อขยาย "สายสีเขียว" ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รอ กทม.หาข้อสรุปหนี้ 5.3 หมื่น ก่อนนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาในคราวเดียวกัน


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 2/2565 ว่า รฟม. มีความพร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบการจำหน่ายทรัพย์สินโครงการ ส่วน กทม.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ด้วยการเสนอสภา กทม.เห็นชอบภาระทางการเงินก่อน เพื่อนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาในคราวเดียวกัน จึงจะลงนามใน MOU โอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไป

สำหรับในส่วนของ กทม. มีขั้นตอนที่จะต้องนำเรื่องเสนอต่อสภา กทม.เพื่อเห็นชอบ MOU (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) และภาระทางการเงินที่ต้องรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม.รายงานที่ประชุมว่าขณะนี้กองกฎหมาย กทม.อยู่ระหว่างตรวจร่าง MOU (เพิ่มเติม ฉบับที่ 1) จากนั้นจะเสนอสภา กทม.พิจารณาเห็นชอบ MOU และพิจารณาภาระทางการเงินโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน เนื่องจาก ผู้ว่าฯ กทม.และผู้บริหารชุดใหม่ เพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของสภา กทม.มีวาระอื่นๆ ที่ค้างการพิจารณาจำนวนมาก รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกสภา กทม. ก่อน จึงยังไม่สามารถบรรจุวาระพิจารณาเห็นชอบภาระหนี้สายสีเขียวในช่วงแรกได้

ทั้งนี้เงื่อนไขใน MOU จะเป็นการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ พร้อมภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการจาก รฟม.ไปให้ กทม.โดยไม่รวมอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง

นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ ได้สรุปการโอนรถฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) โดยปรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริง สิ้นสุดถึงวันที่ 31 พ.ค. 2565 เป็นจำนวน 53,321.90 ล้านบาท แบ่งเป็น งานโครงสร้างพื้นฐาน สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 19,150.199 ล้านบาท งานโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 34,171.70 ล้านบาท

พร้อมทั้งได้มีการประมาณการณ์ภาระทางการเงิน ต่อไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 (สิ้นปีงบประมาณ 2565) จำนวน 54,284.07 ล้านบาท ซึ่งนอกจากค่าก่อสร้างงานโยธาแล้วยังมีค่าเวนคืน ค่าจ้างที่ปรึกษา อีกด้วย รวมถึงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยภาระทางการเงินโครงการทั้งหมดจะมีการสรุปอีกครั้งเมื่อทาง กทม.กำหนดวันรับหนี้ที่ชัดเจน

Back to top button