สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 มิ.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 มิ.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) และร่วงลงรายสัปดาห์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในรอบหลายเดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกพยายามที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,888.78 จุด ลดลง 38.29 จุด หรือ -0.13%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,674.84 จุด เพิ่มขึ้น 8.07 จุด หรือ +0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,798.35 จุด เพิ่มขึ้น 152.25 จุด หรือ +1.43%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) แต่ยังคงลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรายใหญ่ต่าง ๆ ทำให้เกิดความวิตกว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 403.25 จุด เพิ่มขึ้น 0.37 จุด หรือ +0.09% แต่ปรับตัวลง 4.6% ในรอบสัปดาห์นี้

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,882.65 จุด ลดลง 3.59 จุด หรือ -0.06%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,126.26 จุด เพิ่มขึ้น 87.77 จุด หรือ +0.67% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,016.25 จุด ลดลง 28.73 จุด หรือ -0.41%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยการร่วงลงของหุ้นกลุ่มทรัพยากรถ่วงตลาดลงมากที่สุด

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,016.25 จุด ลดลง 28.73 จุด หรือ -0.41% และปรับตัวลง 4.1% ในรอบสัปดาห์ที่ผล้ว

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังธนาคารกลางหลายแห่งแห่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 8.03 ดอลลาร์ หรือ 6.83% ปิดที่ 109.56 ดอลลาร์/บาร์เรล และปิดร่วงลง 9.2% ในสัปดาห์ที่แล้ว

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 6.69 ดอลลาร์ หรือ 5.58% ปิดที่ 113.12 ดอลลาร์/บาร์เรล และปิดร่วงลง 7.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ถ่วงสัญญาทองคำลง โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นลดความน่าดึงดูดของทองคำ ขณะที่ทำให้สัญญาทองคำมีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่น

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 9.3 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,840.6 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาทองคำปรับตัวลงราว 1.9% ในรอบสัปดาห์ที่แล้ว

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 29.8 เซนต์ หรือ 1.36% ปิดที่ 21.587 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 20.9 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 930.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 67.80 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 1,798.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) เนื่องจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ลงมติที่จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปนั้น ได้ช่วยหนุนดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นอย่างมาก

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 1.03% แตะที่ 104.6960

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 134.96 เยน จากระดับ 132.00 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9704 ฟรังก์ จากระดับ 0.9638 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3022 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2928 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.0495 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0580 ดอลลาร์สหรัฐ, ปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2211 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2357 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6936 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7064 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button