แพนิกส่งกำไรค่าการกลั่น! กดราคาดิ่ง 6 วัน “มาร์เก็ตแคป” หายวูบ 7.7 หมื่นลบ.
แพนิกส่งกำไรค่าการกลั่น 21,000 ล้านบาท! กดราคาหุ้นโรงกลั่นดิ่ง 6 วัน "มาร์เก็ตแคป" หายวูบ 7.7 หมื่นลบ. โบรกแนะเลี่ยง TOP-BCP-IRPC-PTTGC ส่วน SPRC-ESSO ดูปลอดภัยมากสุด “สุพัฒนพงษ์” ยอมรับคุยโรงกลั่นจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป จับตาครม.พรุ่งนี้ (21 มิ.ย.)
จากกรณีเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เกิดกระแสปรากฏข่าวรัฐบาลโดยกระทรงพลังงาน จะขอความร่วมมือกับกลุ่มโรงกลั่นนำส่งกำไรจากค่าการกลั่น เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและเบนซิน หลังกองทุนน้ำมันติดลบเกือบ 100,000 ล้านบาท จนล่าสุดวันที่ 16 มิ.ย. 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงว่ารัฐบาลขอความร่วมมือจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ในการนำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน เข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันเบนซินประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 บริษัท ช่วง 6 วันทำการที่ผ่านมา (วันที่ 10-17 มิ.ย. 2565) พบว่าราคาหุ้นมีการปรับตัวลงเฉลี่ยกว่า 13.33% ทำให้มูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปรับลดลงกว่า 76,800 ล้านบาท เริ่มจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ราคาปรับลง 5.75 บาท (-16.43%) มาร์เก็ตแคปลดลง 22,950 ล้านบาท บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ราคาปรับลง 11.25 บาท (-18.525%) มาร์เก็ตแคปลดลง 22,544 ล้านบาท
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ราคาปรับลง 0.50 บาท (-13.89%) มาร์เก็ตแคปลดลง 10,217 ล้านบาท บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ราคาปรับลง 2.00 บาท (-15.04%) มาร์เก็ตแคปลดลง 8,672 ล้านบาท บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ราคาปรับลง 5.75 บาท (-16.43%) มาร์เก็ตแคปลดลง 7,917 ล้านบาท และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO ราคาปรับลง 1.30 บาท (-10.83%) มาร์เก็ตแคปลดลง 4,499 ล้านบาท
ด้านนายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้น” ทางช่อง 9 MCOT ว่า การขอความร่วมมือจากกลุ่มโรงกลั่นในการนำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 21,000 ล้านบาทดังกล่าว นับว่าเป็นการขอความร่วมมือครั้งที่ 2 ของประเทศไทย นับจากปี 2551 ที่ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นสู่ระดับ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าปัจจุบัน แต่วันนี้สิ่งที่ต่างกันคือรัฐขอความร่วมมือมากกว่า 10 เท่า เทียบกับครั้งที่แล้วคิดเป็นมูลค่าเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น
โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานะกองทุนน้ำมันติดลบใกล้ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันรัฐใช้เงินอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลประมาณกว่า 10 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นประมาณ 700 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้นการเรียกเก็บกำไรค่าการกลั่นดีเซลอัตรา 3 บาทต่อลิตร หรือ 15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็น 6,000 ล้านบาทต่อเดือน และเรียกเก็บจากกลุ่มเบนซิน 1 บาทต่อลิตร หรือ 900 ล้านบาทต่อเดือน จากปัจจุบันค่าการกลั่นอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเมื่อหักต้นทุนต่าง ๆ คาดว่าโรงกลั่นจะมีกำไรค่าการกลั่นไม่เกิน 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่รัฐบาลขอความร่วมมือกลุ่มดีเซล 15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และกลุ่มเบนซิน 5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ดังนั้น หากคิดจากตัวเลขนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน 21,000 ล้านบาทดังกล่าว ทั้ง 6 โรงกลั่นน้ำมันจะได้รับผลกระทบตามสัดส่วนดังนี้ BCP ประมาณ 9.9%, SPRC ประมาณ 14.4%, ESSO ประมาณ 14.6%, IRPC ประมาณ 18.2%, PTTGC ประมาณ 19.8% และ TOP ประมาณ 23.1%
“ในอดีตที่รัฐบาลขอความร่วมมือโรงกลั่นนั้น ไม่น่าต้องขอผู้ถือหุ้น แต่หากเป็นการลงทุนต้องขอมติผู้ถือหุ้น และมองว่ามาตรการดังกล่าวระยะสั้นประชาชนได้ประโยชน์จากราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลง แต่ระยะยาวอาจเป็นภาพลบของประเทศ ดังนั้นหากเป็นการขอความร่วมมือ อาจเป็น 4 โรงกลั่นของไทยเท่านั้น จึงมองว่าหากนักลงทุนที่ยังสนใจหุ้นโรงกลั่น ให้มองโรงกลั่นต่างชาติ ได้แก่ SPRC และ ESSO จะปลอดภัยกว่า” นายสุวัฒน์ กล่าว
โดยบทวิเคราะห์จาก FSSIA ประเมินตามสมมติฐานว่า หากทั้ง 6 โรงกลั่นน้ำมันต้องมีการนำส่งกำไรค่าการกลั่นตามจำนวนดังกล่าว จะมีผลต่อประมาณการกำไรของ 6 โรงกลั่นอย่างมีนัยสำคัญ โดย TOP กำไรจะลดลง 4,786 ล้านบาท (จากประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 13,228 ล้านบาท) PTTGC กำไรจะลดลง 4,102 ล้านบาท (จากประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 29,027 ล้านบาท) IRPC กำไรจะลดลง 3,761 ล้านบาท (จากประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 4,675 ล้านบาท) BCP กำไรจะลดลง 2,051 ล้านบาท (จากประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 6,830 ล้านบาท) ESSO กำไรจะลดลง 3,026 ล้านบาท (จากประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 5,782 ล้านบาท) และ SPRC กำไรจะลดลง 2,974 ล้านบาท (จากประมาณการกำไรปี 2565 ที่ 7,375 ล้านบาท)
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 กรณีการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซทั้งหมด ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชน โดยส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและลดราคาน้ำมันเบนซินตามที่มีกระแสข่าวออกมาเกี่ยวกับยอดเงินที่โรงกลั่นจะช่วยเหลือรวม 7,500-8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2565
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขประมาณการที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้น ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้หารือกับกลุ่มโรงกลั่นทีละราย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยอยู่ระหว่างการหารือในข้อมูลที่ต้องเจรจาเพื่อความเป็นธรรม โดยเฉพาะตัวเลขต้นทุนหรือกำไรที่แท้จริง ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะพยายามสรุปข้อกฎหมายที่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
“เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยช่วงที่ผ่านมาโรงกลั่นก็เข้าใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือที่ดี แต่พอมีกระแสข่าวว่าเขามีกำไรเป็น 10 เท่า นั่นไม่ใช่เรื่องจริง ก็เลยมีปัญหาและต้องทบทวนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผลประกอบการมีขึ้นลงตามธรรมชาติ แต่กำไรในช่วงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสูงตามกระแสข่าว ซึ่งหากขอบริจาคก็จะติดในเรื่องของภาษีสรรพสามิต ซึ่งยังมีกฎหมายที่สามารถเรียกเก็บได้ แต่ก็อยากให้ทุกอย่างเป็นธรรมที่สุดกับทั้งประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการ และรัฐบาล” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีก NGV สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ในโครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 2565 รวมเป็นเงินอีกกว่า 2,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ปตท.ได้ช่วยเหลือค่าพลังงานแก่ประชาชน ขานรับนโยบายภาครัฐ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกภาคส่วน รวมงบประมาณที่ได้ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 5,200 ล้านบาท อาทิ การจัดหาน้ำมันดิบสำรองเพิ่มเติมเป็นเงินกว่า 550 ล้านบาท การตรึงราคาขายปลีกช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้รถ NGV ส่วนบุคคลใช้งบกว่า 3,900 ล้านบาท ตรึงราคาขายปลีก NGV สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ NGV ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท การให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ LPG ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท การบรรเทาภาระต้นทุนในภาคการผลิตไฟฟ้ากว่า 340 ล้านบาท ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ปตท.อยู่ระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ที่จะหมดอายุในเดือน มิ.ย. 2565 ออกไปอีก 3 เดือน จนถึง 30 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ปตท.มีการให้ความช่วยเหลือค่าซื้อก๊าซ LPG โครงการบรรเทาผลกระทบจากการลอยตัวราคา LPG มาตั้งแต่ตุลาคม 2562
“ปตท.พร้อมร่วมรับภาระกับประชาชนทุกภาคส่วน ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมตลอดมา โดยเฉพาะการแบ่งเบาและฝ่าวิกฤตโควิด รวมถึงกลุ่มปตท.นำเงินส่งรัฐเพื่อพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องรวม 96,031 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน (ไตรมาสแรกปี 2565) เพื่อให้คนไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้โดยเร็ว” นายอรรถพล กล่าว