SABINA ชูกลยุทธ์ “ลีน” ลดต้นทุน-บาทอ่อนหนุนรายได้ OEM ปีนี้โต 10%
SABINA ย้ำไม่กระทบหลังต้นทุนพลังงานสูงขึ้น 15% ชี้กลยุทธ์ “ลีน” ส่งผลการผลิตใช้น้ำมันน้อยลง ขณะที่ขายออนไลน์ช่วยลดต้นทุนส่งสินค้าเข้าร้าน-บาทอ่อนหนุนรายได้ OEM ปีนี้โต 10%
นางสาวดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในภายใต้แบรนด์ “ซาบีน่า” เปิดเผยว่า จากการประเมินของฝ่ายบริหารในประเด็นเกี่ยวกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในปี 2565 และปี 2564 เทียบกับปี 2562 พบว่า ต้นทุนค่าพลังงานต่อยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 15% อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาผลกระทบโดยรวมที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ ทั้งด้านการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ก็สามารถกล่าวได้ว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
“ในด้านการผลิต แม้ว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจาก SABINA มีกิจกรรม ‘ลีน’ (Lean) ซึ่งเป็นการปรับการทำงานในโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดสิ่งที่ไม่เกิดมูลค่าหรือลดการสูญเปล่า (Waste) ที่เราทำต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี และเป็นการทำอย่างจริงจังในทุกโรงงานทั้ง 5 แห่ง ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันหากคิดเป็นลิตรน้อยลงเมื่อเทียบกับกิจกรรมที่ทำ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหรือราคาพลังงาน จึงไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับต้นทุนการผลิตของ SABINA แต่อย่างใด” นางสาวดวงดาว กล่าว
ขณะที่ด้านการขายหรือช่องทางการจำหน่าย หลังจาก SABINA รุกทำตลาดออนไลน์ผ่านช่องทาง NSR (Non-Store Retailing) และการทำ O2O ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างออนไลน์สู่ออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าในปัจจุบัน โดยยึดหลักในการบริการลูกค้าที่ต้องการสั่งซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการเดินมาเลือกและทดลองใส่สินค้าที่หน้าร้าน หรือสั่งซื้อผ่านทางระบบออนไลน์ สามารถเลือกให้จัดส่งสินค้าถึงบ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งวิธีนี้เป็นการปรับกระบวนการทำงานให้ลดปริมาณการจัดส่งสินค้าไปที่หน้าร้านให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม แต่ไม่สูญเสียยอดขาย ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าพลังงานที่แฝงอยู่ ถูกผันเปลี่ยนเป็นค่าใช้จ่ายขนส่งจริงไปยังลูกค้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพลังงานแบบผันแปรกับยอดขาย และทำให้ SABINA สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่หลังจากนี้ SABINA ยังจะมีโครงการใหม่ๆ ที่ยังคงตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากจะทำให้รายได้จากช่องทางการรับจ้างผลิต (OEM) เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดมีคำสั่งซื้อเข้ามาถึงเดือนตุลาคมและในปีนี้ SABINA ตั้งเป้าการเติบโตในช่องทาง OEM ไว้ที่ 10% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ซึ่งอยู่ในยุโรปและสหรัฐราชอาณาจักร
ส่วนต้นทุนการนำเข้ากรณีที่ SABINA จ้างผลิตสินค้าบางส่วนจากต่างประเทศนั้น ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการอ่อนค่าของเงินบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีความสามารถในการต่อรองกับผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์ของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และหากพบว่ามีแนวโน้มจะส่งผลกระทบกับต้นทุนนำเข้าเพิ่มขึ้น ทาง SABINA ก็สามารถปรับกลยุทธ์ด้วยการจ้างผลิตจากโรงงานในประเทศซึ่งเป็นคู่ค้าที่สามารถควบคุมคุณภาพผลิตได้ตามมาตรฐาน ซึ่งก็จะช่วยลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนลงได้
“ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะเป็นอะไรที่ท้าทายการบริหารจัดการ เพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นชัดเจนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงในเดือนมิถุนายน ซึ่งในส่วนของ SABINA เรารับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานไม่มาก และได้อานิสงส์จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเป็นจังหวะที่ OEM กำลังขยายตัว ขณะเดียวกัน การปลดล็อคมาตรการต่างๆ หลังจากการคลายความกังวลเรื่องโควิด-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยและกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ ส่งผลให้ยอดขายของเราดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เรายังมั่นใจว่า แม้ปัจจัยต่างๆ จะมีความผันผวน แต่ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 จะออกมาดีกว่าที่คาด และในครึ่งแรกของปีนี้ เราจะยังรักษาอัตราการเติบโตของผลการดำเนินงานไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจอย่างแน่นอน” นางสาวดวงดาว กล่าว