ศาลปกครอง ตีตกคำขอทุเลาควบ “TRUE-DTAC” เหตุยังไม่เกิดความเสียหาย
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำร้องวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีที่ นายณภัทร วินิจฉัยกุล ฟ้อง กสทช. ดำเนินการควบรวม “ทรู-ดีแทค” เหตุยังไม่มีการซื้อขายกิจการระหว่าง 2 บริษัท จนทำให้เกิดความเสียหาย หรือผูกขาดกิจการ ขณะเดียวกัน กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายหากการควบรวมส่งผลให้เกิดการผูกขาดกิจการโทรคมนาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำสั่งในคดีเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีที่ นายณภัทร วินิจฉัยกุล และผู้ถูกฟ้องคดี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ร้องสอด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 1 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 2 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า
ผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นประชาชนชาวไทยมีส่วนเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมอันเป็นสาธารณสมบัติของชาติ และมีฐานะเป็นผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง และวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (11) (24) และมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับ ดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (ประกาศพิพาท)
โดยผู้ฟ้องคดี เห็นว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามที่ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 มีมูลเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการดังต่อไปนี้ อาทิ ข้อ 2 ของประกาศพิพาทที่กำหนดให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการเดียวกัน
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม อันจะมีผลเป็นการชะลอหรือระงับ การปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าประกาศดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหากประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และการทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2553
เมื่อพิจารณาข้อ 5 วรรคหนึ่งของประกาศดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนการดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) จดทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีที่เข้ารวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่ขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามสัญญาร่วมค้า หรือ (2) ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ในกรณีที่เข้ารวมธุรกิจ โดยผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือ (3) ทำสัญญาซื้อขายหุ้น ในกรณีที่เข้ารวมธุรกิจโดยผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การอำนวยการ หรือการจัดการ
และข้อ 9 ซึ่งบัญญัติว่า การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2549 เห็นได้ว่า แม้ผู้ประสงค์จะรวมธุรกิจสามารถรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนการดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์หรือทำสัญญาซื้อขายหุ้น แต่การรายงานดังกล่าวถือเป็นการขออนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งข้อ 8 ของประกาศดังกล่าว วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทน จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ โดยผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเข้าไปถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่คณะกรรมการ เพื่อขออนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
โดยทำให้ ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้ ดังนั้น ในชั้นนี้จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองยังมิได้จดทะเบียนทำให้เกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือได้มีการทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ หรือทำสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจะมีผลให้เกิดการรวมธุรกิจตามกฎหมาย จึงไม่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขในภายหลังตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทำคำชี้แจงต่อศาลระบุว่า ขณะนี้ผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสองจะเกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคมหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีมติให้สำนักงานกสทช. รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสองต่อผู้ถูกฟ้องคดีภายใน 60 วัน นับแต่วันดังกล่าว โดยผู้ถูกฟ้องคดีจะนำผลการศึกษาไปกำหนดมาตรการป้องกันมีให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 27(11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ประกอบกับมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ต่อไป
ดังนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การทุเลาการบังคับ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม จึงอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีได้ กรณีนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามคำขอผู้ฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี ลงชื่อนายดนัย ศรีโมรา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง