BAY คาด “เงินบาท” สัปดาห์นี้ 35.00-35.50 บ. แนะติดตามเฟด-ยอดส่งออกพ.ค.
BAY คาดกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์นี้ระดับ 35.00-35.50 บาท แนะนักลงทุนติดตาม “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค.
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.28 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.76-35.28 บาท/ดอลลาร์ โดยครั้งนี้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 ปี
ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นสกุลเงินฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย Fed Funds 75bp สู่ 1.50-1.75% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฟดประเมินว่าเศรษฐกิจจะชะลอลง และอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น ขณะที่ Dot Plot บ่งชี้ว่าเฟดอาจเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ 3.4% ก่อนสิ้นปีนี้ และ 3.8% ในปี 2566 ก่อนจะลดลงสู่ 3.4% ภายในสิ้นปี 2567 โดยเฟดมองอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
นอกจากนี้ ประธานเฟดระบุว่ามีแนวโน้มสูงที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp หรือ 75bp ในเดือน ก.ค.2565 แต่ไม่คาดว่าการปรับขึ้น 75bp ต่อหนึ่งรอบประชุมจะกลายเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งเฟดไม่ได้พยายามจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่หลายปัจจัยอยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ สร้างความประหลาดใจด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 15 ปี ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คงนโยบายแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษสวนทางเศรษฐกิจแห่งอื่นๆ ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 12,328 ล้านบาท และมียอดขายพันธบัตร 15,057 ล้านบาท โดยมีพันธบัตรที่ถือครองโดยต่างชาติครบอายุ 9,154 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า นักลงทุนจะติดตามถ้อยแถลงด้านนโยบายของประธานเฟดต่อสภาในวันที่ 22-23 มิ.ย. 2565 รวมถึงข้อมูลยอดขายบ้านเดือน พ.ค.2565 ของสหรัฐฯ ขณะที่ประมาณการดอกเบี้ยล่าสุดของเฟด สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดมากขึ้น อีกทั้งสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสะท้อนว่ามีโอกาสราว 90% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 75bp ในเดือน ก.ค.2565 และมีโอกาสสูงกว่า 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp ในเดือน ก.ย.2565 อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารกลางหลายแห่งหันมาเร่งคุมเข้มนโยบายสร้างความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงินตึงตัว ซึ่งมีแนวโน้มหนุนดอลลาร์ในช่วงนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดให้ความสนใจกับตัวเลขนำเข้าส่งออกเดือน พ.ค.2565 จากกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากมีความจำเป็นน้อยลง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องไม่ช้าเกินไป อนึ่ง เมื่อประเมินจากสภาวะแวดล้อมตลาดโลก มองว่ากระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยจะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง