จับตา! ครม.หาทางออกรีดกำไร “ค่าการกลั่น” หวั่นถูกฟ้อง-ตั้งทีมศึกษา
กระทรวงพลังงาน เตรียมรายงานความคืบหน้าผลการหารือกับโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อขอแบ่งกำไรส่วนเกินจากการกลั่นให้ ครม.รับทราบ เพื่อหาทางออกในการหาเงินเข้ากองทุนน้ำมันต่อไป หลังมีความสุ่มเสี่ยงที่รัฐอาจโดนฟ้องภายหลัง และโรงกลั่นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ต.ล.ท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันนี้ (21 มิ.ย. 2565) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ต้องจับตาวาระจร หรือ วาระพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งมีรายงานว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณามาตรการลดภาระประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานรอบใหม่ (ต่อมาตรการเดิม) ระยะเวลา 3 เดือน หรือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 อาทิ การคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกันให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม (16 มิ.ย.2565 – 15 ก.ย.2565 )
โดยการให้ส่วนลด 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ในการซื้อก๊าซ LPG สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4 ล้านราย วงเงิน 220 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้คงค่าการตลาดจำนวน 1.4 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565
รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 จำนวน 1.5 ล้านห้อง และมาตรการด้านภาษีให้บริษัทเอกชนหากจัดไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดเมืองรอง สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า ส่วนเมืองหลักหักได้ 1.5 เท่า รวมถึงการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ และนิทรรศการต่างจังหวัดก็สามารถนำมาหักภาษีได้ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม จนถึง 31 ธันวาคม 2565 คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ราว 300-500 ล้านบาท
ขณะที่มาตรการเพิ่มเติม คือ มาตรการนำส่งกำไรส่วนหนึ่งที่เกิดจากการกลั่นน้ำมันส่วนเกินของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ จำนวน 6 โรง ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันแพงเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ เดือนกรกฎาคม จนถึง เดือนกันยายน 2565 แบ่งออกเป็น
สำหรับน้ำมันดีเซล ประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน โดยในส่วนนี้จะนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จะติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท และน้ำมันเบนซินประมาณ 1 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะนำมาลดราคาน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้จะนำกำไรจากส่วนเกินจากโรงแยกแก๊สส่วนหนึ่ง 50 % ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เข้ากองทุนน้ำมันฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะรายงานความคืบหน้าการหารือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่งเมื่อวานนี้
โดยมีรายงานว่า การหารือกับโรงกลั่นน้ำมันเมื่อวานนี้ ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการขอแบ่งกำไรจากโรงกลั่นฯ ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการดำเนินการได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีการฟ้องร้องกันตามมา ขณะเดียวกันโรงกลั่นน้ำมัน จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ต.ล.ท. คือ จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการของแต่ละบริษัทเสียก่อน
ทั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานยืนยันว่าสามารถทำได้ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ มาตรา 14 (4) และมาตรา 27(1) ที่จะมีการเก็บเงินจากโรงกลั่นฯ เข้ากองทุนน้ำมัน ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน หรือ กบน. จะต้องตั้งคณะทำงานมาศึกษา และกำหนดรายละเอียด เพื่อให้กองทุนฯ ออกระเบียบเก็บเงินให้ชัดเจน
สำหรับวงเงินที่โรงกลั่นฯ จะต้องจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วง 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 2565) ยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่ชัดเจน และอาจจะไม่ใช่ตัวเลข 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งขึ้นมาก่อนเท่านั้น โดยวันนี้ (21 มิ.ย. 2565) กระทรวงพลังงานจะเสนอกรอบดังกล่าวในที่ประชุม ครม. พิจารณาต่อไป